...

วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557

มือใหม่หัด Portrait ตอนที่ 2

การเลือกเวลาในการถ่ายภาพ
หัวใจสำคัญสำหรับการถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติก็คือแสงในธรรมชาติ ดังนั้นเวลาสำหรับการถ่ายภาพที่ดีจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา การถ่ายภาพ Portrait เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามส่วนใหญ่แล้วก็คงจะต้องเน้นไปที่เรื่องทิศทางของแสง สำหรับถ่ายภาพ ทิศทางแสงที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพก็คือ ทิศทางแสงด้านข้าง ทิศทางแสงเฉี่ยงด้านหลัง เพื่อให้เกิดแสง Rim Light หรือ ทิศทางแสงจากด้านหลังเพื่อให้เกิด Effect แสงฟุ้งของเส้นผม เวลาที่เหมาะสมสำหรับทิศทางแสงประเภทดังกล่าว ได้แก่ช่วงเช้าระหว่าง 7.00-10.00 น. หรือจะเป็นช่วงบ่ายระหว่างเวลา 15.00-17.00 น.ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนั้นแนวของแสงอาทิตย์จะอยู่ในแนวเฉียง ซึ่งจะทำให้การกำหนดสถานที่ และการวางแบบเพื่อให้ได้ทิศทางแสงเป็นไปอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาที่เลยจากนี้ เราจะพบว่า  ดวงอาทิตย์จะอยู่ตำแหน่งสูงทำให้การวางตำแหน่งทิศทางแสงขาดความสะดวกและ เพิ่มความยุ่งยากมากขึ้นและพึงหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพในเวลาเที่ยงวันเนื่อง จากแสงอาทิตย์จะอยู่ตำแหน่งสูงเหนือศีรษะ จะทำเงาตกลงด้านล่างทำให้ขาดความสวยงาม

คุณภาพแสงถ่ายภาพ
คุณภาพแสงสำหรับการถ่ายภาพในที่นี้ เราคงจะกล่าวกันว่าเป็นแสงแข็งแสงนุ่ม ในการถ่ายภาพ Portrait นั้น แสงที่นิยมสำหรับการถ่ายภาพ ส่วนใหญ่ก็จะนิยมแสงแบบแสงนุ่มเพื่อความนุ่มนวลของภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วน ของใบหน้าของแบบ แสงนุ่มสามารถสังเกตได้จากความเข้มของเงาที่ปรากฏ ถ้าเงาที่ปรากฏเป็นเงาเข้มแสดงว่าเป็นแสงแข็ง แต่ถ้าเงาที่ปรากฏเป็นเงาที่นุ่มนวลแสดงว่าเป็นแสงนุ่ม นี่คือธรรมชาติของแสง การเลือกสถานที่จะมีส่วนในเรื่องของแสงเข้มแสงนุ่ม โดยทั่วไป ให้ร่มไม้ ในร่มของอาคารสถานที่ ภายในสถานที่แสงที่ได้จะเป็นแสงนุ่ม ที่ช่วยให้ภาพถ่ายมีความนุ่มนวลของตัวแบบได้เป็นอย่างดี
แต่สำหรับภาพ Portrait หลายภาพที่มีแสงฟุ้งของเส้นผม หรือ แสงที่ทำให้เกิด Rim Light ส่วนใหญ่จะเป็นแสงแข็ง การวางตำแหน่งกับทิศทางแสงจึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา การให้ตำแหน่งทิศทางแสงเข้าทางด้านข้างหรือด้านหลังของแบบจะทำให้เกิดEffect ได้ตามต้องการ แต่ผลที่ได้มักจะทำให้ส่วนใบหน้าของแบบมืดลง การเพิ่มค่าการรับแสงให้สว่างขึ้นเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้งาน อีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้แผ่นสะท้อนแสงเพิ่มความสว่างของด้านหน้าแบบให้สว่าง ขึ้น หรือจะใช้วิธีลบเงาด้วยแสงแฟลชก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กัน ข้อสำคัญก็คือ การใช้แผ่นสะท้อนแสง  และการกำหนดแสงแฟลชต้องไม่ให้สว่างจนเกินไป  ซึ่งจะทำให้ความสว่างบนตัวแบบหลอกตามากไป ปัจจุบันพบว่ามีอุปกรณ์เสริมครอบหน้าแฟลชสำหรับทำให้แสงแฟลชนุ่มมากยิ่งขึ้น (Softbox) ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านอุปกรณ์กล้องทั่วไป จะทำให้แสงแฟลชนุ่มการถ่ายภาพจะง่ายยิ่งขึ้น


การกำกับการโพสท่าของแบบ
หัวใจใหญ่ของภาพ Portrait ที่ปรากฏว่าจะสวยงามน่าดูหรือไม่นั่นคือ การกำกับการโพสท่าของแบบในการถ่ายภาพหลักใหญ่ของการถ่ายภาพ Portrait ก็คือ การถ่ายภาพแบบเต็มตัว ถ่ายภาพแบบสามส่วน ถ่ายภาพครึ่งตัว และการถ่ายภาพเน้นส่วนใบหน้าของแบบ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานวางมุมแบบปกติ ส่วนตัวแบบนั้นก็จะมีตั้งแต่ นั่งจะนั่งไขว่ห้าง นั่งชันเข่า นั่งตามสบาย ยืนสารพัดท่า ยืนพิงกำแพง นอน และ อื่นๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นไปตามธรรมชาติของเราเองนั่นแหละ
แต่ความสวยงามของภาพ Portrait ยังขึ้นกับความคิดสร้างสรรค์ของนักถ่ายภาพด้วย สิ่งนี้เป็นเรื่องยากสำหรับการแนะนำแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าเราสร้างสรรค์ ไม่ได้แล้วจะไม่ได้ภาพตามที่ต้องการ การฝึกหัดในเรื่องนี้มีจุดที่น่าสนใจพอสรุปได้อยู่ 3 ประการ
ประการแรก ความ คิดสร้างสรรค์ นักถ่ายภาพใหม่ๆ มักจะนึกไม่ออกว่าจะโพสท่าแบบอย่างไร ตัวช่วยมีครับ ดูภาพ Portrait ที่ปรากฏในบรรดานิตยสารต่างๆ ให้มากไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานิตยสารแฟชั่นทั้งหลาย จำไว้ใช้ ถ้าไม่แน่ใจว่าเดี๋ยวลืม ก็ตัด (ถ้าเป็นหนังสือที่ซื้อมาหรือขอตัดได้) นำมาสร้างเป็นคัมภีร์ส่วนตัวไว้ใช้งาน ไม่ต้องอายว่าจะเอาแบบเขามาใช้ ส่วนใหญ่การโพสจะมีแนวคล้ายๆ กันดัดแปลงเพื่อมาใช้งานได้เลย
ประการที่สอง การ ถ่ายภาพแบบนั้น หลายคนก็อาจจะเกิดปัญหาอย่างเช่นที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้ นั่นคือ เรื่องของมือ ดูมันเก้งก้างไปหมด ไม่รู้ว่าจะวางมือกันอย่างไร เรื่องนี้ลองคิดสร้างสรรค์ดูซีครับ หาอะไรให้ถือได้หรือไม่ หนังสือ กระเป๋า ดอกไม้  หรือแว่นตาก็ยังได้ ถ้าหาไม่มี ให้จกกระเป๋า ประสานมือ  เท้าสะเอว ไพล่หลัง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักถ่ายภาพมือใหม่ต้องฝึกหัดครับ
ประการที่สาม นัก ถ่ายภาพ Portrait ต้องเป็นผู้ออกคำสั่งในการโพสท่า พึงระลึกเสมอว่า เมื่อคุณเป็นนักถ่ายภาพ คุณคือผู้ที่เห็นว่า ภาพที่ปรากฏในช่องมองภาพและการกดชัตเตอร์เพื่อให้ได้ภาพนั้น ภาพเป็นอย่างไร การสั่งให้แบบ หันซ้าย หันขวาก้มหน้า เงยหน้า มองด้านซ้าย มองด้านขวา มองกล้อง ขยับซ้ายขยับขวา มือสูงนิด มือลดลงมาหน่อย ยิ้มนิดๆ ยิ้มกว้างๆ ทำหน้านิ่งๆ ฯลฯ คำเหล่านี้ เป็นเสมือนคำที่ท่องกันจนขึ้นใจและใช้เป็นคำสั่งสำหรับการกำกับแบบเพื่อให้ เป็นไปตามที่ช่างภาพต้องการ จงอย่าลืมว่าช่างภาพคือคนเดียวที่ทราบว่าภาพที่ต้องการได้จะเป็นอย่างไร เมื่อกดชัตเตอร์





Post Process
ในการถ่ายภาพ Portrait นั้นนับตั้งแต่ยุคกล้องฟิล์มจนถึงยุคกล้องดิจิตอลก็ตาม ภาพที่ถ่ายแล้ว การจะใช้งานกับภาพในขั้นตอนสุดท้ายก็คือการ Process รูปให้ดีที่สุด ยิ่งในยุคกล้องดิจิตอลด้วยแล้ว เราจะพบว่าการถ่ายภาพ Portrait มีการปรับปรุงเสริมแต่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีสันซึ่งวันนี้มีปรากฏตั้งแต่ สีสันที่เป็นแนวธรรมชาติ หรือสีสันที่แปลกตาแนวแฟชั่นต่างๆ ซึ่งมีให้เลือกมากมายหลายแนวคิด ดังนั้นวันนี้ Creative ในเรื่องการปรับสีภาพจึงมีการพัฒนาก้าวไกล ยิ่งนักถ่ายภาพรุ่นใหม่ไฟแรง ที่พร้อมด้วยเทคโนโลยีของซอฟแวร์ที่มีให้ใช้ทำให้ความคิดในเรื่องการถ่ายภาพ Portraitมีสีสันที่แปลกตามากยิ่งขึ้น ซึ่งหลักใหญ่ๆ ก็จะได้แก่การปรับตั้ง Contrast (ความเปรียบต่าง) ของภาพ การปรับ Saturation สีของภาพให้มีโทนสีที่อาจจะสูงขึ้น หรือต่ำลง เป็นแฟชั่นที่แปลกตามากขึ้นไปจากปกติ สิ่งเหล่านี้คือ ความได้เปรียบของนักถ่ายภาพรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวล้ำนำหน้านักถ่ายภาพรุ่น เก่าและนำสไตล์ภาพใหม่ๆ เข้าสู่วงการถ่ายภาพ


วันนี้ ความสำเร็จของนักถ่ายภาพ Portrait หาใช่เพียงการถ่ายภาพให้ได้เท่านั้น แต่อยู่ที่การศึกษาเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพ ติดตามผลงานการถ่ายภาพอย่างสม่ำเสมอ เปิดวิสัยทัศน์กับการมองภาพแนวใหม่ สร้าง Creative สำหรับการถ่ายภาพให้มากขึ้น แล้วคุณจะพบว่าการถ่ายภาพ Portrait ให้งามดั่งใจไม่ยากจนเกินไปครับ




มือใหม่หัด Portrait ตอนที่1

แม้ว่าการถ่ายภาพ Portrait หรือการถ่ายภาพ บุคคลจะเป็นการถ่ายภาพที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสาวๆ เสมอไป แต่ทั้งคุณรวมทั้งผมด้วยก็คงต้องยอมรับว่า ถ้าจะให้เลือกระหว่างถ่ายภาพคนชรากับสาวๆ แล้วละก็ ผมว่าเกือบทั้งหมดเลือกถ่ายสาวๆ เป็นอันดับแรก การถ่ายภาพที่ใช้แสงธรรมชาติเป็นหลักใหญ่ ซึ่งใกล้เคียงกับการใช้งานจริงของนักถ่ายภาพมือใหม่ในการฝึกถ่ายภาพ Portrait ด้วยอุปกรณ์ที่มีอยู่ โดยไม่ต้องซื้อหามาเพิ่มเติมให้มากมายแต่อย่างใด

อุปกรณ์ที่ใช้
- กล้อง ที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพ Portrait ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็ควรเป็นกล้อง D-SLR จะเป็นรุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ก็ตามแต่กระเป๋าของแต่ละท่านครับ เหตุที่น่าจะเป็นกล้องประเภทนี้ก็คือ เราสามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ที่จะเลือกใช้ได้หลากหลายกว่าแต่อย่างไรก็ตามถ้า เป็นกล้องคอมแพคระดับบนหน่อยที่มีซูมให้เลือกใช้ก็สามารถใช้งานได้ดีเช่นกัน ครับ

- เลนส์ สำหรับการถ่ายภาพ Portrait เป็นเรื่องที่กล่าวขวัญกันเสมอว่าควรเป็นเลนส์เทเลที่มีขนาดรูรับแสงที่ กว้างหน่อยอย่างเช่น F2.8 เพื่อละลายฉากหลังนั้น ถ้าถามว่าจำเป็นไหม สำหรับผมถือว่าเป็นเรื่องรองครับ หาเทเล F2.8 ซักตัวแน่นอนว่าราคาหลายหมื่น ผมอยากจะบอกว่า การถ่ายภาพ Portrait นั้น เลนส์ที่จะใช้งานสามารถใช้งานได้ทั้งเลนส์มุมกว้าง หรือเลนส์เทเล ใช้ได้ทั้งนั้นครับ ขึ้นกับว่าในการถ่ายภาพนั้นต้องการลักษณะภาพแบบไหน การถ่ายภาพ Portrait ที่ต้องการแสดงถึงสถานที่ด้วยนั้นหลายครั้งที่การถ่ายก็อาจจะต้องใช้เป็น เลนส์มุมกว้างเพื่อเก็บสภาพแวดล้อม แต่ถ้าต้องการถ่ายภาพที่เน้นเฉพาะตัวแบบแล้ว การใช้เลนส์เทเลก็จะเพิ่มความกระชับพื้นที่ตัวแบบได้มากกว่า ดังนั้นเลนส์ที่ใช้งานได้ครอบคลุมการถ่ายจึงอยู่ในช่วงระหว่าง 24-135 มม. จะเป็นช่วงที่เหมาะและคล่องตัวสำหรับการใช้งาน แต่ถ้ามีความต้องการที่จะทำให้ฉากหลังเบลอมากๆ อย่างที่เขาเรียกกันว่าละลายฉากหลังแล้วล่ะก็ เลนส์ซูม 70-200 มม. F2.8 ก็เป็นเลนส์ที่ให้ผลของการถ่ายภาพมากกว่า

- แผ่นสะท้อนแสง หรือ Reflector ถ้าถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็น ก็ไม่เชิงนัก แต่ถ้ามีก็มีส่วนช่วยมากสำหรับการใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยสะท้อนแสงเปิดความสว่าง ให้กับตัวแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้แสงด้านข้างหรือการถ่ายภาพที่มีการย้อนแสงใน บางครั้ง

- แฟลช เป็นอุปกรณ์เสริมที่ควรมีไว้ใช้งาน ถ้ามีการถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติ จะเป็นแฟลชที่แยกจากตัวกล้อง หรือเป็นแฟลชที่ติดมากับตัวกล้องก็สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการถ่ายภาพที่ต้องการถ่ายภาพย้อนแสงเพื่อให้เกิด Effect แสงที่แตกต่างไปจากสภาพปกติ

เลือกสถานที่ถ่ายภาพ
สถานที่สำหรับการถ่ายภาพ Portrait นั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นสำหรับงานประเภทนี้ จริงอยู่ที่การถ่ายภาพบุคคลมุมภาพเป็นมุมที่แคบๆ การพิจารณาถึงเรื่องสถานที่จึงดูเสมือนกับเป็นเรื่องรองแต่ถ้าสถานที่มีความ สวยงาม และมีความหลากหลาย จะทำให้การถ่ายภาพ Portrait สามารถทำงานได้ง่ายมากขึ้น สามารถสร้างสรรค์การถ่ายภาพบุคคลให้มีมุมมองและเน้นตัวแบบได้มากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญสำหรับเรื่องสถานที่ถ่ายภาพก็คือ การพิจารณามุมมองในเรื่องของฉากหลัง การเลือกมุมใดมุมหนึ่งของสถานที่มาใช้เป็นฉากหลังสำหรับการถ่ายภาพ ต้องถือว่าเป็นทักษะเฉพาะของนักถ่ายภาพ ที่ต้องพิจารณานำมาใช้งาน อาทิเช่น กำแพง ผนังตึก บันได ห้องนั่งเล่น หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาร




สร้างสรรค์วางแบบเพื่อถ่ายภาพ
ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่ นั่นคือ ความพลุกพล่านของผู้คน นักถ่ายภาพควรระลึกว่า เมื่อมีการวางแบบเพื่อการถ่ายภาพถ้าสถานที่พลุกพล่านด้วยผู้คน การทำงานจะเป็นสิ่งสร้างความสนใจให้กับผู้ที่ผ่านไปผ่านมา ซึ่งมีโอกาสรบกวนสมาธิการทำงานได้ง่าย การเลือกสถานที่ วันเวลา ที่ความพลุกพล่านของผู้คนน้อย จะเพิ่มความสะดวกในการทำงานได้มากกว่า และแน่นอนว่าประการสุดท้าย ที่ต้องถือเป็นมารยาทก็คือ  การขออนุญาตการใช้สถานที่ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดในภายหลังว่าไปใช้สถานที่โดยไม่ได้รับอนุญาต


วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ระบบออโตโฟกัส

ระบบ Auto Focus ของกล้องในปัจจุบันมีประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และความแม่นยำสูงมาก
แต่ก็มีความสลับซับซ้อนในการปรับตั้งอยู่พอสมควรเมื่อเทียบกับกล้องคอมแพค
ดังนั้นเพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุดในการใช้งาน จึงขอแนะวิธีในการปรับตั้ง
ระบบออโตโฟกัสของกล้องตามลำดับดังนี้

1) ปรับปุ่มโฟกัสที่ตัวเลนส์ไปยังตำแหน่ง Auto
2) เลือกจุดหรือส่วนของพื้นที่ที่ต้องการโฟกัส Focus Area Selection
โดยปกติของกล้องคอมแพค ถูกออกแบบให้โฟกัสเฉพาะพื้นที่ตรงส่วนกลางของจอภาพมอนิเตอร์หรือช่องมองภาพ (View Finder) เท่านั้น แต่สำหรับกล้อง D-SLR ได้ถูกออกแบบให้มีพื้นที่หรือจุดโฟกัสให้เลือกใช้มากมายหลายจุด ขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อของกล้องนั้นๆ โดยทั่วไปแล้วมีตั้งแต่ 3-51 จุด พร้อมทั้งระบบการเลือกจุดโฟกัสให้ใช้หลายระบบ ขึ้นอยู่กับ ตำแหน่งของ Subject ที่ต้องการถ่าย โดยส่วนใหญ่แล้วสามารถจำแนกออกเป็น 3 ระบบดังนี้

Auto-area AF กล้องจะเลือกจุดสำหรับโฟกัสให้โดยอัตโนมัติ
ซึ่งจะดำเนินการโดยเลือก Subject ที่อยู่ใกล้สุดเป็นหลักในการเลือกจุดโฟกัส
Single-area AF เป็นโหมดที่ผู้ใช้เลือกจุดการโฟกัสด้วยตัวเองเพียงจุดเดียว
เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการโฟกัส
+ Dynamic-area AF (มี เฉพาะในกล้อง Nikon) เป็นการให้เลือกจุดโฟกัสเพียงจุดเดียว
เหมือน Singel-area เพียงแต่กล้องยังคงใช้ข้อมูลของพื้นที่อื่นเป็นส่วนประกอบในการกำหนดโฟกัส
 ซึ่งมีประโยชน์ในกรณีที่ Subject อาจจะเคลื่อนที่ออกนอกจุดโฟกัสไปบ้างหรือเป็นเวลาสั้นๆ

3) เลือกโหมดออโตโฟกัส Auto Focus Mode
หลักการเลือกโหมดออโตโฟกัสของกล้อง D-SLR ขึ้นอยู่กับกิริยาอาการของ Subject เป็นหลัก การเลือกโหมดที่ถูกต้องเหมาะสมกับ Subject ทำให้เราสามารถถ่ายภาพได้ในสิ่งที่ถ่ายได้ยาก
เพื่อที่จะให้เข้าใจง่ายไม่สับสนจึงขอแยกกล่าวการเลือกโหมดออโตโฟกัสระหว่าง
กล้อง Nikon และ Canon ดังนี้

สำหรับกล้อง Nikon
- Single Servo AF (AF-S) ในโหมดนี้กล้องจะทำการโฟกัสวัตถุอย่างต่อเนื่องเมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ลงมา ครึ่งหนึ่ง ถึงแม้ว่าวัตถุยังคงเคลื่อนที่อยู่ แต่เมื่อวัตถุหยุดการเคลื่อนไหวกล้องจะล็อกโฟกัสไว้และยังคงล๊อกการโฟกัส ตลอดที่ยังคงกดชัตเตอรค้างไว้์ ไฟ LCD ในช่องมองภาพจะติดแสดงการล็อกโฟกัส ในโหมดนี้จะเน้นความสำคัญการโฟกัสเป็นหลัก นั่นหมายถึงการกดชัตเตอร์จะกระทำได้เมื่อโฟกัสถูกล็อกเท่านั้น แต่ถ้าหากวัตถุเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องไม่หยุด การโฟกัสยังคงทำงานต่อเนื่องจนกว่ากล้องจะจับการโฟกัสได้ จึงจะกดชัตเตอร์ได้ ในโหมดนี้กล้องจะทำการดักการโฟกัสล่วงหน้าในกรณีที่วัตถุเคลื่อนที่เข้าหรือ ออกจากตัวกล้องอีกด้วย

- Continuous Servo AF (AF-C) กล้องจะโฟกัสอย่างต่อเนื่อง เมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง เหมือนการทำงานในโหมดแรก แต่กล้องจะไม่มีการล๊อกโฟกัสถึงแม้ว่าวัตถุจะหยุดการเคลื่อนไหว โดยกล้องจะเน้นความสำคัญของการกดชัตเตอร์เป็นหลัก โดยไม่สนใจว่ากล้องจะจับโฟกัสได้หรือไม่

- Manual Focus (M) เน้นการปรับโฟกัสด้วยมือ โดยการหมุนวงแหวนโฟกัสที่เลนส์ โดยมีไฟ LCD ปรากฏในช่องมองภาพเมื่อโฟกัสได้ระยะชัด

- Auto Servo AF (AF-A) มีเฉพาะรุ่น D40x, D60, D80 หรือเทียบเท่า กล้องจะทำการตรวจสอบ Subject ว่ามีการเคลื่อนไหวหรือไม่ แล้วทำการเลือกโหมดระหว่าง AF-S และ AF-C ให้เราเอง

สำหรับกล้อง Canon
- One Shot AF ในโหมดนี้กล้องจะทำการโฟกัสตรงจุดโฟกัสที่ได้เลือกไว้เมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ลง มาครึ่งหนึ่ง หลังจากกล้องโฟกัสชัดแล้วก็จะล็อกโฟกัสไว้ ไฟ LCD ในช่องมองภาพจะแสดงการล็อกโฟกัส ในโหมดนี้จะเน้นความสำคัญการโฟกัสเป็นหลัก นั่นหมายถึงการกดชัตเตอร์จะกระทำได้เมื่อโฟกัสถูกล็อกเท่านั้น

- AI Servo AF กล้องจะทำการโฟกัสอย่างต่อเนื่องเมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ลงมาครึ่งหนึ่ง และกล้องจะชดเชยการโฟกัสไว้ (การดักโฟกัสล่วงหน้า) เมื่อ Subject มีการเคลื่อนไหว ในโหมดนี้กล้องจะเน้นความสำคัญของการกดชัตเตอร์เป็นหลัก โดยไม่สนใจว่ากล้องจะจับโฟกัสได้หรือไม่ ยกเว้นเข้าไปเปลี่ยนคำสั่งใน Custom Function
3) AI Focus AF กล้องจะทำการโฟกัสในโหมด One Shot AF เมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ลงมาครึ่งหนึ่ง ซึ่งถ้ากรณีที่ Subject มีการเคลื่อนไหว กล้องจะเปลี่ยนการทำงานไปที่โหมด AI Servo AF ทันที

ปล. สำหรับกล้อง nikon จะมีไฟช่วยโฟกัสด้วย แต่ไฟจะทำงานเฉพาะเมื่อเลือกจุดโฟกัส
เป็นจุดตรงกลางเท่านั้นนะครับ ส่วน canon ใช้แฟลชยิงช่วยหาโฟกัส ก็พอแก้ขัดได้