...

วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การถ่ายภาพแนว Sport ตอนที่ 1

การถ่ายภาพกีฬาในที่นี้ หมายรวมถึง การถ่ายภาพ Action วัตถุ ที่มีการเคลื่อนที่ เคลื่อนไหว อย่างรวดเร็ว ซึ่งใช้ได้ทั้ง การถ่ายภาพกีฬาไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล แข่งรถ แข่งมอเตอร์ไซด์ เจ็ทสกี รวมไปถึงการถ่ายภาพเหตุการณ์ที่มีการเคลื่อนที่ เคลื่อนไหวอย่างอย่างต่อเนื่อง หรือ แม้แต่เวทีการแสดงคอนเสิร์ต ก็สามารถนำไปใช้งานได้
ความต้องการในการถ่ายภาพกีฬา หรือ Action ต่างๆ นั้นไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันฟุตบอล ชกมวย หรือจะเป็นกีฬาความเร็วอย่างเช่น วิ่งแข่ง แข่งรถ หรือ กีฬาทางน้ำเช่น เจ็ทสกี ความต้องการก็คือ ต้องการที่จะได้ภาพที่คมชัด หยุดการเคลื่อนไหวของการแข่งขันนั้นๆ ในเสี้ยววินาทีที่น่าเร้าใจ โดยไม่ใช้แฟลช ในการถ่ายภาพ เพราะเราต้องระลึกเสมอว่า แสงแฟลช นั้นจะไปรบกวนการแข่งขัน และในหลายสถานการณ์ ก็ไม่อำนวย หรือ ห้ามไม่ให้ใช้แฟลก็มี
เคล็ด (ไม่) ลับ ของการถ่ายภาพกีฬา หรือ Action เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดนั้น ทุกคนคงทราบดีว่า อยู่ที่จะหยุดการ เคลื่อนที่ เคลื่อนไหว ให้ได้ดั่งใจ ก็คือ การใช้ความเร็วชัตเตอร์ในการถ่ายภาพให้สูงพอ
ไม่เช่นนั้นภาพที่ออกมาจะเป็นเช่นนี้



การถ่ายภาพให้ได้ความคมชัดนั้น ขึ้นกับปัจจัย 2 ประการ ประการแรกก็ คือ การใช้ความไวชัตเตอร์ในการถ่ายภาพให้สูงพอสำหรับหยุดการเคลื่อนที่เคลื่อน ไหวให้หยุดนิ่งให้ได้ ถ้าความไวชัตเตอร์สูงไม่พอ ภาพที่ได้ก็จะเป็นภาพไหวๆ ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วของวัตถุ แม้ว่าเราจะถือกล้องได้นิ่งก็ตาม
ประการที่สอง ความคมชัดของภาพยังต้องขึ้นกับการโฟกัสภาพที่แม่นยำ แม้ว่าเราจะใช้ความไวชัตเตอร์ที่สูงพอ แต่ถ้าขาดความแม่นยำในการโฟกัสภาพแล้วละก็ ภาพที่ได้ก็จะเป็นภาพเบลอๆ ขาดความชัดที่ต้องการไปทันที


ดังนั้นเคล็ดลับของการถ่ายภาพกีฬาจึงอยู่ที่การควบคุมความไวชัตเตอร์ในการ ถ่ายภาพ และควบคุมการโฟกัสภาพให้ได้ภาพที่คมชัดเมื่อมีการกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ ส่วนนี้คือ หัวใจในการถ่ายภาพ Action มาถึงตรงนี้ หลายคนคงบอกว่าพูดอย่างงี้ ใครๆ ก็พูดได้ แต่ทำจริงๆ ไม่ง่ายเหมือนอย่างที่พูดจะว่าอย่างนั้นก็ใช่ครับ แต่มีสิ่งละอันพันละน้อยที่ควรรู้และปฏิบัติอยู่อีกหลายเรื่องอย่างที่บอก ไว้แล้วว่า หัวใจของการถ่ายภาพกีฬา คือ ความไวชัตเตอร์และ การโฟกัสภาพ แต่การถ่ายภาพนั้น ประกอบไปด้วย คนถ่ายภาพ กับ กล้องถ่ายภาพ การถ่ายภาพกีฬาจึงต้องประกอบกันทั้ง 2 ส่วน คือ คนถ่ายภาพ และกล้องถ่ายภาพ

กล้องถ่ายภาพ
กล้องถ่ายภาพที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพกีฬา หรือ  Action นั้น ควรเป็นกล้อง D-SLR เพราะว่าจะมีระบบการปรับตั้งที่ช่วยในการถ่ายภาพให้ง่ายขึ้น ทั้งระบบโฟกัสภาพ และ ระบบความไวชัตเตอร์ที่จะใช้งาน ที่สำคัญก็คือ ต้องมีการปรับตั้งกล้องที่จะใช้งานให้เหมาะสมกับการถ่ายภาพกีฬา
ปรับตั้งระบบโฟกัสของกล้อง ในที่นี้ผมขอแนะนำการปรับตั้งระบบโฟกัสภาพสำหรับกล้อง D-SLR ทั่วๆ ไป จะไม่เจาะจงว่าจะเป็นกล้อง D-SLR ระดับสูง ที่มีระบบอำนวยความสะดวกมากขึ้น สิ่งแรกที่ควรปรับตั้งก็คือ ระบบโฟกัสภาพที่ปกติเราจะใช้การโฟกัสภาพแบบ Single Focus ใน Nikon หรือ One shot ในกล้อง Canon ซึ่งจะเป็นการโฟกัสภาพแต่ละครั้งที่มีการกระตุ้นชัตเตอร์ ด้วยการปรับระบบโฟกัสภาพไปเป็นระบบ Continuous focus ถ้าเป็นกล้อง Nikon หรือกล้อง Canon ก็เลือกใช้เป็นระบบ AI Servo ซึ่งในการโฟกัสภาพระบบนี้ เมื่อมีการกดปุ่มชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งค้างไว้ กล้องจะทำการโฟกัสภาพต่อเนื่องตลอดเวลาที่กดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งสำหรับกล้อง ยี่ห้ออื่นๆก็เช่นเดียวกัน ให้ปรับระบบโฟกัสภาพเป็นระบบโฟกัสต่อเนื่องซึ่งสามารถหาได้ในกล้องส่วนใหญ่

จากนั้นทำการปรับตั้งเรื่องจุดโฟกัสของกล้อง ซึ่งถ้าเป็นกล้องรุ่นทั่วไปที่มีจุดโฟกัสภาพหลายจุด ให้ปรับตั้งระบบจุดโฟกัสให้ทำงานแบบอัตโนมัติทุกจุด (Dynamic focus) สำหรับกล้องบางกล้องที่มีระบบ Wide area focus ก็สามารถเลือกใช้ได้เช่นกัน แต่ถ้าเป็นกล้องรุ่นสูงหน่อย จะมีจุดโฟกัสภาพหลากหลายจุด ถ้าสามารถตั้งเป็นกลุ่มโฟกัสภาพได้ ให้ตั้งเป็นระบบกลุ่มโฟกัสภาพ แล้วตั้งให้เป็น Dynamic focus จะทำให้การโฟกัสภาพง่ายขึ้น
ถ้ากล้องของคุณมีระบบ Tracking ให้เปิดระบบ Tracking ซึ่งอาจจะต้องเข้าไปในเมนูปรับตั้ง สำหรับกล้องรุ่นทั่วไปหลายรุ่นวันนี้มักจะมีระบบ Auto Tracking ก็อาจจะไม่ต้องตั้ง ระบบ Auto Tracking คือ ระบบที่ โฟกัสจะทำการโฟกัสติดตามวัตถุได้ (lock on) ซึ่งความแม่นยำต้องขึ้นกับระดับของกล้องด้วย การปรับตั้งเช่นนี้ จะช่วยทำให้การโฟกัสภาพวัตถุที่มีการเคลื่อนที่เคลื่อนไหว สามารถโฟกัสภาพ จับวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น (ควรศึกษาระบบการโฟกัสภาพของกล้องแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นให้ชัดเจนเพื่อการปรับตั้ง )


ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น