...

วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557

มือใหม่หัด Portrait ตอนที่ 2

การเลือกเวลาในการถ่ายภาพ
หัวใจสำคัญสำหรับการถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติก็คือแสงในธรรมชาติ ดังนั้นเวลาสำหรับการถ่ายภาพที่ดีจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา การถ่ายภาพ Portrait เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามส่วนใหญ่แล้วก็คงจะต้องเน้นไปที่เรื่องทิศทางของแสง สำหรับถ่ายภาพ ทิศทางแสงที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพก็คือ ทิศทางแสงด้านข้าง ทิศทางแสงเฉี่ยงด้านหลัง เพื่อให้เกิดแสง Rim Light หรือ ทิศทางแสงจากด้านหลังเพื่อให้เกิด Effect แสงฟุ้งของเส้นผม เวลาที่เหมาะสมสำหรับทิศทางแสงประเภทดังกล่าว ได้แก่ช่วงเช้าระหว่าง 7.00-10.00 น. หรือจะเป็นช่วงบ่ายระหว่างเวลา 15.00-17.00 น.ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนั้นแนวของแสงอาทิตย์จะอยู่ในแนวเฉียง ซึ่งจะทำให้การกำหนดสถานที่ และการวางแบบเพื่อให้ได้ทิศทางแสงเป็นไปอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาที่เลยจากนี้ เราจะพบว่า  ดวงอาทิตย์จะอยู่ตำแหน่งสูงทำให้การวางตำแหน่งทิศทางแสงขาดความสะดวกและ เพิ่มความยุ่งยากมากขึ้นและพึงหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพในเวลาเที่ยงวันเนื่อง จากแสงอาทิตย์จะอยู่ตำแหน่งสูงเหนือศีรษะ จะทำเงาตกลงด้านล่างทำให้ขาดความสวยงาม

คุณภาพแสงถ่ายภาพ
คุณภาพแสงสำหรับการถ่ายภาพในที่นี้ เราคงจะกล่าวกันว่าเป็นแสงแข็งแสงนุ่ม ในการถ่ายภาพ Portrait นั้น แสงที่นิยมสำหรับการถ่ายภาพ ส่วนใหญ่ก็จะนิยมแสงแบบแสงนุ่มเพื่อความนุ่มนวลของภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วน ของใบหน้าของแบบ แสงนุ่มสามารถสังเกตได้จากความเข้มของเงาที่ปรากฏ ถ้าเงาที่ปรากฏเป็นเงาเข้มแสดงว่าเป็นแสงแข็ง แต่ถ้าเงาที่ปรากฏเป็นเงาที่นุ่มนวลแสดงว่าเป็นแสงนุ่ม นี่คือธรรมชาติของแสง การเลือกสถานที่จะมีส่วนในเรื่องของแสงเข้มแสงนุ่ม โดยทั่วไป ให้ร่มไม้ ในร่มของอาคารสถานที่ ภายในสถานที่แสงที่ได้จะเป็นแสงนุ่ม ที่ช่วยให้ภาพถ่ายมีความนุ่มนวลของตัวแบบได้เป็นอย่างดี
แต่สำหรับภาพ Portrait หลายภาพที่มีแสงฟุ้งของเส้นผม หรือ แสงที่ทำให้เกิด Rim Light ส่วนใหญ่จะเป็นแสงแข็ง การวางตำแหน่งกับทิศทางแสงจึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา การให้ตำแหน่งทิศทางแสงเข้าทางด้านข้างหรือด้านหลังของแบบจะทำให้เกิดEffect ได้ตามต้องการ แต่ผลที่ได้มักจะทำให้ส่วนใบหน้าของแบบมืดลง การเพิ่มค่าการรับแสงให้สว่างขึ้นเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้งาน อีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้แผ่นสะท้อนแสงเพิ่มความสว่างของด้านหน้าแบบให้สว่าง ขึ้น หรือจะใช้วิธีลบเงาด้วยแสงแฟลชก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กัน ข้อสำคัญก็คือ การใช้แผ่นสะท้อนแสง  และการกำหนดแสงแฟลชต้องไม่ให้สว่างจนเกินไป  ซึ่งจะทำให้ความสว่างบนตัวแบบหลอกตามากไป ปัจจุบันพบว่ามีอุปกรณ์เสริมครอบหน้าแฟลชสำหรับทำให้แสงแฟลชนุ่มมากยิ่งขึ้น (Softbox) ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านอุปกรณ์กล้องทั่วไป จะทำให้แสงแฟลชนุ่มการถ่ายภาพจะง่ายยิ่งขึ้น


การกำกับการโพสท่าของแบบ
หัวใจใหญ่ของภาพ Portrait ที่ปรากฏว่าจะสวยงามน่าดูหรือไม่นั่นคือ การกำกับการโพสท่าของแบบในการถ่ายภาพหลักใหญ่ของการถ่ายภาพ Portrait ก็คือ การถ่ายภาพแบบเต็มตัว ถ่ายภาพแบบสามส่วน ถ่ายภาพครึ่งตัว และการถ่ายภาพเน้นส่วนใบหน้าของแบบ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานวางมุมแบบปกติ ส่วนตัวแบบนั้นก็จะมีตั้งแต่ นั่งจะนั่งไขว่ห้าง นั่งชันเข่า นั่งตามสบาย ยืนสารพัดท่า ยืนพิงกำแพง นอน และ อื่นๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นไปตามธรรมชาติของเราเองนั่นแหละ
แต่ความสวยงามของภาพ Portrait ยังขึ้นกับความคิดสร้างสรรค์ของนักถ่ายภาพด้วย สิ่งนี้เป็นเรื่องยากสำหรับการแนะนำแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าเราสร้างสรรค์ ไม่ได้แล้วจะไม่ได้ภาพตามที่ต้องการ การฝึกหัดในเรื่องนี้มีจุดที่น่าสนใจพอสรุปได้อยู่ 3 ประการ
ประการแรก ความ คิดสร้างสรรค์ นักถ่ายภาพใหม่ๆ มักจะนึกไม่ออกว่าจะโพสท่าแบบอย่างไร ตัวช่วยมีครับ ดูภาพ Portrait ที่ปรากฏในบรรดานิตยสารต่างๆ ให้มากไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานิตยสารแฟชั่นทั้งหลาย จำไว้ใช้ ถ้าไม่แน่ใจว่าเดี๋ยวลืม ก็ตัด (ถ้าเป็นหนังสือที่ซื้อมาหรือขอตัดได้) นำมาสร้างเป็นคัมภีร์ส่วนตัวไว้ใช้งาน ไม่ต้องอายว่าจะเอาแบบเขามาใช้ ส่วนใหญ่การโพสจะมีแนวคล้ายๆ กันดัดแปลงเพื่อมาใช้งานได้เลย
ประการที่สอง การ ถ่ายภาพแบบนั้น หลายคนก็อาจจะเกิดปัญหาอย่างเช่นที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้ นั่นคือ เรื่องของมือ ดูมันเก้งก้างไปหมด ไม่รู้ว่าจะวางมือกันอย่างไร เรื่องนี้ลองคิดสร้างสรรค์ดูซีครับ หาอะไรให้ถือได้หรือไม่ หนังสือ กระเป๋า ดอกไม้  หรือแว่นตาก็ยังได้ ถ้าหาไม่มี ให้จกกระเป๋า ประสานมือ  เท้าสะเอว ไพล่หลัง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักถ่ายภาพมือใหม่ต้องฝึกหัดครับ
ประการที่สาม นัก ถ่ายภาพ Portrait ต้องเป็นผู้ออกคำสั่งในการโพสท่า พึงระลึกเสมอว่า เมื่อคุณเป็นนักถ่ายภาพ คุณคือผู้ที่เห็นว่า ภาพที่ปรากฏในช่องมองภาพและการกดชัตเตอร์เพื่อให้ได้ภาพนั้น ภาพเป็นอย่างไร การสั่งให้แบบ หันซ้าย หันขวาก้มหน้า เงยหน้า มองด้านซ้าย มองด้านขวา มองกล้อง ขยับซ้ายขยับขวา มือสูงนิด มือลดลงมาหน่อย ยิ้มนิดๆ ยิ้มกว้างๆ ทำหน้านิ่งๆ ฯลฯ คำเหล่านี้ เป็นเสมือนคำที่ท่องกันจนขึ้นใจและใช้เป็นคำสั่งสำหรับการกำกับแบบเพื่อให้ เป็นไปตามที่ช่างภาพต้องการ จงอย่าลืมว่าช่างภาพคือคนเดียวที่ทราบว่าภาพที่ต้องการได้จะเป็นอย่างไร เมื่อกดชัตเตอร์





Post Process
ในการถ่ายภาพ Portrait นั้นนับตั้งแต่ยุคกล้องฟิล์มจนถึงยุคกล้องดิจิตอลก็ตาม ภาพที่ถ่ายแล้ว การจะใช้งานกับภาพในขั้นตอนสุดท้ายก็คือการ Process รูปให้ดีที่สุด ยิ่งในยุคกล้องดิจิตอลด้วยแล้ว เราจะพบว่าการถ่ายภาพ Portrait มีการปรับปรุงเสริมแต่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีสันซึ่งวันนี้มีปรากฏตั้งแต่ สีสันที่เป็นแนวธรรมชาติ หรือสีสันที่แปลกตาแนวแฟชั่นต่างๆ ซึ่งมีให้เลือกมากมายหลายแนวคิด ดังนั้นวันนี้ Creative ในเรื่องการปรับสีภาพจึงมีการพัฒนาก้าวไกล ยิ่งนักถ่ายภาพรุ่นใหม่ไฟแรง ที่พร้อมด้วยเทคโนโลยีของซอฟแวร์ที่มีให้ใช้ทำให้ความคิดในเรื่องการถ่ายภาพ Portraitมีสีสันที่แปลกตามากยิ่งขึ้น ซึ่งหลักใหญ่ๆ ก็จะได้แก่การปรับตั้ง Contrast (ความเปรียบต่าง) ของภาพ การปรับ Saturation สีของภาพให้มีโทนสีที่อาจจะสูงขึ้น หรือต่ำลง เป็นแฟชั่นที่แปลกตามากขึ้นไปจากปกติ สิ่งเหล่านี้คือ ความได้เปรียบของนักถ่ายภาพรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวล้ำนำหน้านักถ่ายภาพรุ่น เก่าและนำสไตล์ภาพใหม่ๆ เข้าสู่วงการถ่ายภาพ


วันนี้ ความสำเร็จของนักถ่ายภาพ Portrait หาใช่เพียงการถ่ายภาพให้ได้เท่านั้น แต่อยู่ที่การศึกษาเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพ ติดตามผลงานการถ่ายภาพอย่างสม่ำเสมอ เปิดวิสัยทัศน์กับการมองภาพแนวใหม่ สร้าง Creative สำหรับการถ่ายภาพให้มากขึ้น แล้วคุณจะพบว่าการถ่ายภาพ Portrait ให้งามดั่งใจไม่ยากจนเกินไปครับ




ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น