...

วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การชดเชยแสง (Exposure Compensation) ตอน2

ตามตัวอย่างนี้ ผมวัดแสงให้พอดีที่รูปหมายเลข 5(ตรงกลาง)
และชดเชยแสงครั้งละ 0.3EV จนถึง 1.3EV ทั้งฝั่งบวกและลบ
แล้วเอารูปมาเรียงต่อกัน เพื่อให้เห็นภาพการไล่ระดับความสว่างของภาพ
ทีนี้ ในขณะที่เราถ่ายรูปจริงนั้น สมมติว่ารูปอันเดอร์มาก
ถ้าเทียบความมืดแล้วก็น่าจะพอๆ กับรูปหมายเลข 1
ก็ชดเชยแสงไปทางด้าน "บวก" แต่จะเพิ่มครั้งล่ะ 0.3EV ก็ดูจะช้าไปสำหรับรูปที่มืดมาก
การชดเชยครั้งแรก อาจชดเชยไป "+1.0EV" เลย แล้วดูผลลัพธ์ว่า
ได้อย่างที่ต้องการแล้วหรือยัง
หากยังไม่ได้รูปที่ชอบ ก็ชดเชยไปอีกครั้ง ก็น่าจะได้รูปที่พอดีครับ


หลังจากคุณวัดและชดเชยแสงแล้ว หากได้รูปที่มีความสว่างเท่ากับรูปหมายเลข "5"
ก็ถือว่าเป็นรูปที่แสงถูกต้อง
แต่ถ้าความสว่างของรูป ไปตกที่หมายเลข 4 กับ 6 นั้น "ถือว่ารับได้ครับ"

แม้ว่ารูปหมายเลข 4 จะ Under ไปนิดและรูปหมายเลข 6 จะ Over ไปนิด แต่ก็ไม่มีปัญหาครับ
ถือว่าเกิด Error บ้างเล็กน้อย แก้ไขไม่ยาก
ปรับแต่งในโปรแกรมแต่งรูป 2-3 คลิ๊กก็ได้รูปที่ "แสงพอดี"

แต่หากรูปที่ได้มานั้น ความสว่างตกอยู่ในรูปที่ 1, 2, 3, 7, 8, 9 นั้น ผมแนะนำว่าให้ถ่ายใหม่
เพราะถึงแม้ว่ารูปเหล่านั้นจะสามารถปรับแต่งได้
แต่หากเราได้รูปต้นฉบับที่มืดหรือว่างเกินไป(Error สูง)
เมื่อนำมาปรับด้วยโปรแกรมแต่งรูป คุณภาพของไฟล์จะลดลงครับ เช่น
มี Noise มากขึ้น และยังต้องมาเสียเวลามากในการแต่งอีกด้วย
ฉะนั้น!! ผมแนะนำว่า "ถ่ายใหม่เลยครับ"

มาถึงจุดสำคัญของเรื่องการชดเชยแสง นั่นก็คือ "เราจะต้องชดเชยแสงเมื่อไหร่"
ตอบ : ต้องชดเชยแสง เมื่อไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ

ผมแบ่งสาเหตุที่ต้องชดเชยแสงไว้ 3 กรณีคือ
1. ชดเชยแสงเพราะ "สี"
2. ชดเชยแสงเพราะ "แสง"
3. ชดเชยแสงเพราะ "ความชอบ" 

มาดูตัวอย่างเป็นข้อๆ ไป... 
1. ชดเชยแสงเพราะ "สี"
ใครที่เคยศึกษาเรื่องการชดเชยแสงมาบ้างก็ต้องเคยเห็นตารางนี้แน่นอน
หลักๆ นั้นเค้าสื่อว่า "ถ่ายรูปสีนั้น" ก็ควรจะชดเชยแสงกลับไป "เท่านี้" เพื่อให้ได้รูปอย่างที่ตาเห็น เช่น

- หากถ่ายรูปอะไรที่มีสีขาวมาก ก็ควรชดเชยแสง "+2.0EV"

- หากถ่ายรูปอะไรที่มีสีดำมาก ก็ควรชดเชยแสง "- 2.0EV"

- ส่วนสีอื่นๆ ก็ดูจากตารางครับ

แต่ๆ...

ผมแนะนำว่า "ไม่ต้องไปจำสีและค่าการชดเชยแสง" ของมันหรอกครับ เพราะ
1. ใครจะไปจำได้ว่าสีนั้น(มีความเข้มสีเท่านี้ด้วย) ต้องชดเชยแสงเท่าไหร่
2. สีเดียวกัน ในสภาพแสงที่ต่างกัน มันก็สะท้อนแสงได้ไม่เท่ากัน
เช่นมีลูกบอลสีดำลูกนึง แต่เอาแสงแรงๆ มาส่อง สีที่เรามองเห็นนั้น
อาจไม่เห็นเป็นสีดำแล้วครับ อาจถึงขั้นเห็นเป็นสีขาวเลย
หรือสมมติอีกทีว่าเรามีลูกบอลสีขาวลูกนึง
แต่เอาไปไว้ในห้องที่มืดมากๆ แล้วให้เราไปดู
เราก็ไม่รู้หรอกครับว่า "ลูกบอลนั้นสีขาว" เราอาจมองเห็นเป็นสีเทาหรือสีดำเลยด้วยซ้ำ
3. ค่าการชดเชยแสงต่างๆ ที่ให้มานั้น อาจไม่สัมพันธ์กับกล้องรุ่นใหม่ๆ

แต่ๆ...
ตารางนี้มันก็มีประโยชน์มากครับ ประโยชน์ที่ว่าคือ ทำให้เรารู้ว่า "ถ่ายสีอะไร แล้วควรชดเชยไปทางไหน ประมาณเท่าไหร่" เช่น

- หากถ่ายสีเหลือง ก็ควรชดเชยไปทางบวก "มากหน่อย"
- หากถ่ายสีฟ้าหรือสีชมพู ก็ควรชดเชยไปทางบวก "นิดนึง"
หรือ
- หากถ่ายสีเทาเข้มหรือน้ำตาลเข้ม ก็ควรชดเชยไปทางลบ "มากหน่อย"
- หากถ่ายสีน้ำเงินหรือเขียวเข้ม ก็ควรชดเชยไปทางลบ "นิดนึง"

แล้ว ไอ้ "นิดนึง" นี่มันเท่าไหร่ หรือไอ้ "มากหน่อย" นี่มันเท่าไหร่ นั้น!! ขึ้นอยู่กับประสบการณ์แล้วครับ ใครก็บอกค่าที่แน่นอนไม่ได้

ปล. หากรู้ทิศทางของการชดเชย เราจะสามารถเดาได้ว่าควรชดเชยเท่าไหร่
ก็ถือว่า "ชดเชยแสงเป็นแล้ว" จะเกิดความผิดพลาดบ้างก็ไม่เป็นไร
ชดเชยแสงแล้วถ่ายซ้ำไปอีกที ก็เอาอยู่



ทีนี้ การชดเชยแสงเพราะ "สี" ก็เป็นเรื่องง่ายเลย เพราะสามารถเดาได้ง่าย เช่น
สมมติว่าเราไปถ่ายรูปที่มีสีเดียวทั้งรูป จะสีอะไรก็ได้
เราประเมินแล้วว่าสีมันเข้มกว่าเทากลางแน่ แต่ไม่ถึงดำ
ก็ชดเชยรอไว้เลย -0.3EV หรือ -0.7EV แล้วแต่การประเมินครับ
หรือในทางกลับกัน หากเราประเมินแล้วว่า สีมันอ่อนกว่าเทากลางแน่ แต่ไม่ถึงกับสีขาว
ก็ชดเชยรอไว้เลย +0.3EV หรือ +0.7EV แล้วแต่การประเมินเช่นกัน


จากรูปนี้ "ถ่ายสีขาว" ก็ชี้จุดโฟกัสวัดแสงที่สีขาวเลย หลังจากวัดและล็อคค่าแสงแล้ว ก็ถ่ายเลย
ได้รูปอย่างที่เห็นครับ คือเรารับรู้ได้ว่านั่นคือสีขาว แต่จริงๆ แล้วมันเป็นสีขาวอมเทา
ซึ่งไม่เหมือนกับที่ตาเห็น
รูปนี้เลยต้องชดเชยแสงไป +1.0EV จะได้รูปที่ถือว่าใกล้เคียงกับของจริงที่สุดแล้ว
รูปด้านบน วัดแสงแล้วถ่ายเลย กล้องเลือก Shutter Speed ที่ 1/13Sec
หลังจากที่ชดเชยแสงไป +1EV กล้องมันจะปรับ Shutter Speed ให้ช้าลง
เพื่อให้แสงเข้าได้มากขึ้น ได้ Shutter Speed ใหม่เป็น 1/6Sec แทน


2. ชดเชยแสงเพราะ "แสง"
ในบางครั้งที่เราถ่ายรูป ตัวแสงเองนั่นแหละที่เป็นปัญหา
อาจเป็นเพราะมีแสงน้อยไปบ้าง หรือแสงมากไปบ้าง

ผมยกให้เห็นซักตัวอย่างก็แล้วกัน เป็นสถานการณ์ที่คิดว่าคนเล่นกล้องทุกคนต้องเคยเจอมาแล้ว
นั่นก็คือ "การถ่ายย้อนแสง" นั่นเอง
ปัญหาหลักของการถ่ายย้อนแสงคือ "ได้รูปอันเดอร์"
เคยไหมที่ถ่ายคนแบบย้อนแสง แล้วตัวแบบดำปี๋
นั่นเป็นเพราะมีแสงเข้ากล้องมากเกินไป
กล้องมันจะพยายามลดแสงลงด้วยการ "เพิ่ม Shutter Speed หรือลดขนาดรูรับแสงลง"
ทำให้ ไม่มีแสงเพียงพอที่ตัวแบบ แบบเลยดำปี๋ เป็นเรื่องธรรมดา

ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการชดเชยแสงครับ (ผมไม่กล่าวถึงการใช้แฟลชเข้ามาช่วยนะครับ)
ผมจำลองตัวอย่างการถ่ายรูปย้อนแสง มาให้ดูกัน
โดยวางสีไม้ไว้ด้านหน้า แล้ววางไฟที่สว่างมากไว้ด้านหลัง ดังรูป


ใช้โหมด A วัดแสงพอดีที่สีไม้แล้วถ่าย
ปรากฏว่า... ได้รูป "อันเดอร์" ทั้งที่วัดแสงเรียบร้อยแล้ว


รูปลักษณะนี้ไม่แปลกครับ เพราะมีแสงเข้ามาจากทางด้านหลังมาก
กล้องมันก็จะเพิ่ม Shutter Speed เพื่อรักษารายละเอียดของทั้งภาพเอาไว้
แสงโดยรวมของทั้งรูป "ถือว่าโอเค" แต่แสงที่สีไม้ "อันเดอร์ไป"
หากตั้งใจจะเก็บรายละเอียดที่สีไม้ ก็ชดเชยแสงไปทางบวก
แน่นอนว่ารายละเอียดที่ สีไม้ดีขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับการเสียรายละเอียดด้านหลังไป


 จริงๆแล้ว มีวิธีการแก้ไขสถานการณ์เช่นนี้ได้ ถ้าเรามีอุปกรณ์ช่วยอย่าง แฟลช
หรืออาจจะใช้เทคนิค HDR เข้ามาช่วย ซึ่งผมจะยังไม่กล่าวถึงในหัวข้อนี้นะครับ

3. ชดเชยแสงเพราะ "ความชอบ"
การชดเชยลักษณะนี้ โดยส่วนมากกล้องจะวัดแสงให้ถูกต้องอยู่แล้ว แต่ผู้ถ่ายอาจอยากได้
- รูปที่สว่างอีกนิด เพื่อเปิดรายละเอียดตรงนั้น หรือ
- รูปที่มืดอีกหน่อย เพื่อขับให้จุดเด่น ให้เห็นชัดยิ่งขึ้น เป็นต้น
เรียกว่าชดเชยเพราะจริตส่วนบุคคลแล้วครับ

สำหรับภาพรวมของการชดเชยแสงก็มีเท่านี้ครับ
รายละเอียดยิบย่อย ไม่ต้องพูดถึง เพราะพูดกันให้ตายก็ไม่จบ
ออกไปลองเอง ให้ประสบกาณ์มันสอนดีกว่า
คนที่อ่านบทความนี้จนจบ "ก็ใช่ว่าจะทำเป็นทันที"
"แค่บทความนี้เป็นแนวทาง ให้ฝึกฝนไปในทิศที่ถูกต้อง"
และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้ จะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้าง
สุดท้าย ขอให้สนุกกับการถ่ายรูปครับ

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น