รูปต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ดีครับ เพราะในรูปเดียวมีสภาพแสงถึง 3 แบบ คือ
1. ส่วนที่อยู่ในเงา
2. ส่วนที่โดนแสงบางส่วน(รำไร)
3. ส่วนที่โดนแสงเต็มๆ
แบ่งรูปนี้ออกเป็น 3 Zone คือ
Zone 1 คือ Zone ที่อยู่ในเงาทั้งหมด เป็นส่วนที่มืดที่สุดในรูปนี้
Zone 2 คือ Zone ที่โดนแดดบางส่วน โดนเงาบางส่วน เป็นส่วนที่เรียกว่าโดนแสงแบบ "รำไร"
Zone 3 คือ Zone ที่โดนแดดมากที่สุด รับแสงไปเต็มๆ
ฉะนั้น หากเราลองวัดแสงตามจุดต่างๆ ในรูปนี้ ค่าแสงที่วัดได้ย่อมไม่เท่ากันแน่นอน
ต่อไปทำการทดสอบด้วยการถ่าย 3 รูป วัดแสงที่ "สัญลักษณ์โฟกัส" 1 จุดต่อ 1 รูป โดย
ใช้โหมด A ตั้งรูรับแสงที่ F11 ตั้ง ISO200 วัดแสงแบบ Spot เหมือนกันทั้ง 3 รูป
วิธีการถ่ายคือ
1. เล็งจุดโฟกัสไปที่ "สัญลักษณ์โฟกัส ที่ผมทำเครื่องหมายไว้" แล้วล็อคค่าแสง
2. โฟกัสที่แก้ว
3. จัด Composition
4. ถ่าย
ถ่ายแบบนี้ทั้ง 3 Zone ผลที่ได้ คือ
Zone 1 วัดแสงที่แก้ว (ตามจุดโฟกัสที่ผมทำเครื่องหมายเอาไว้)
กล้องเลือก Shutter Speed ให้ที่ 1/25 Sec
ภาพที่ได้คือบริเวณโต๊ะ ที่แก้ววางอยู่ สว่างพอดี หรือ พูดว่า Zone 1 จะได้แสงที่พอดี เพราะเราวัดแสงที่ Zone นี้
แสงใน Zone 2 ที่สภาพแสงมากกว่า Zone 1 อยู่ก่อนแล้วก็จะ Over ไปนิดนึง
และใน Zone 3 ที่สภาพแสงมากกว่า Zone 2 ก็ต้อง Over มากเป็นธรรมดา เมื่อเทียบกับ Zone 1
Zone 2 วัดแสงที่บริเวณสนามหญ้า
กล้องเลือก Shutter Speed ให้ที่ 1/60 Sec
ภาพที่ได้คือบริเวณสนามหญ้า หรือ Zone 2 สว่างพอดี เพราะเราวัดแสงที่ Zone นี้
แสงใน Zone 1 ที่สภาพแสงน้อยกว่า Zone 2 อยู่ก่อนแล้วก็จะ Under ไปนิดนึง
และใน Zone 3 ที่สภาพแสงมากกว่า Zone 2 ก็ต้อง Over นิดนึง เมื่อเทียบกับ Zone 2
Zone 3 วัดแสงที่ Background ด้านหลัง
กล้องเลือก Shutter Speed ให้ที่ 1/100 Sec
ภาพที่ได้คือบริเวณ Background ด้านหลังหรือ Zone 3 สว่างพอดี เพราะเราวัดแสงที่ Zone นี้
แสงใน Zone 2 ที่สภาพแสงน้อยกว่า Zone 3 อยู่ก่อนแล้วก็จะ Under ไปนิดนึง
และใน Zone 1 ที่สภาพแสงน้อยกว่า Zone 2 ก็ต้อง Under มากเป็นธรรมดา เมื่อเทียบกับ Zone 3
สำหรับสภาพปกติ หรือสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไป ถ้าเราอยากให้ส่วนไหนสว่างพอดี ก็วัดแสงที่ตรงนั้นเลย...
บริเวณที่เราวัดแสง ก็จะได้แสงที่พอดี ไม่มืดหรือสว่างเกินไป เมื่อเทียบกับของจริง
ในทางกลับ เมื่อไหร่เจอสภาพแสงที่ "ยุ่งยาก" วัดแสงแล้ว มันไม่พอดีซักที
อาจเกิดจาก สภาพแสงในขณะนั้น มีหลายความเข้มแสงในรูปเดียว
เช่น เราถ่ายรูป Portrait แบบย้อนแสง หลายๆ ครั้งคงได้เห็นรูปที่ "ตัวแบบดำปี๋" มองไม่รู้เลยว่าเป็นใคร
นั่นเพราะ สภาพแสงที่ต่างกันมากนั้นเอง ระหว่าง "ตัวแบบ" ที่หันหลังให้แสง กับ "Background" ซึ่งในที่นี้ก็คือดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงมาเต็มๆ
กรณีแบบนี้มี 3 ทางเลือกในเบื้องต้นคือ
1. ชดเชยแสง
2. เลือกระบบวัดแสงใหม่ เลือกจุดวัดแสงใหม่
3. หลบมุมนิดหน่อย
สำหรับเรื่องสภาพแสงที่ยุ่งยากนั้น พักไว้ก่อน เดี๋ยวผมจะเขียนบทความอีกเรื่องคือ "การชดเชยแสง" ให้อ่านกันอีกที
จะบอกทั้งหมดว่า การชดเชยแสงคืออะไร ชดเชยอย่างไร ต้องชดเชยในกรณีไหนบ้าง...
ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างเป็น กรณีๆ ไป
อย่างรูปนี้ก็นับเป็นรูปนึงที่จัดว่าเป็นรูปที่ "สภาพแสงยุ่งยาก" เพราะมีความต่างของแสงมากในรูปๆ เดียว
เราลองมาวิเคราะห์กันว่า ในเบื้องต้นก่อนวัดแสงนั้น เราจะใช้โหมดวัดแสง ระบบไหนดี
รูปนี้อาจใช้ Spot หรือ Center-Weighted ก็ได้ครับ แต่ไม่ดีแน่ถ้าจะใช้ระบบวัดแสงแบบ Matrix
เพราะมันจะเอาค่าแสงที่แรงมากของดวงอาทิตย์ มาคำนวณด้วย...
ถ้าใช้ Spot หรือ Center-Weighted เลือกจุดวัดแสงดีๆ อาจไม่ต้องชดเชยแสง ได้รูปอย่างที่เห็นเลย
หลังจากเลือกระบบวัดแสงแล้ว ก็มาพิจารณาต่อว่าจะวัดแสงตรงไหนดี
รูปนี้มีแสงมากจากดวงอาทิตย์ และมีแสงน้อยมากทีดอกชบา เมื่อเทียบกับด้านหลัง
เราอยากได้แสงพอดีที่ดอกชบา ก็วัดแสงพอดีที่ดอกชบา แล้วถ่ายเลยครับ
ส่วนรูปนี้ หากมองคร่าวๆ รูปนี้ก็เป็นรูปหนึ่งที่ถ่าย "ย้อนแสง"
ถ้าอยู่ในช่วงแดดจ้า อาจต้องเลือกจุดวัดแสงดีๆ หน่อย หรือไม่ก็ต้องช่วยด้วยการชดเชยแสง
แต่สภาพแสงในขณะนั้น ดวงอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้าเต็มที สถาพแสงน้อยมาก มองด้วยตาเปล่าก็ไม่แสบตาอะไร
ถือว่าเป็นสภาพแสงที่ไม่ยุ่งยากอะไรใช้ Center-Weighted วัดแสงที่เรือ แล้วถ่ายเลย
**ทริค รูปไหนที่มีทั้งสีขาวและสีดำในรูปเดียวกัน ดูง่ายมากครับ ว่าวัดแสงถูกหรือปล่าว
เพราะถ้าวัดแสงถูก "ขาวต้องเป็นขาว ดำต้องเป็นดำ"
รูปนี้วัดแสงแบบ Spot จิ้มไปตรงขอบเสื้อด้านหน้า ชดเชยบวกนิดเดียว(0.3EV)
ในเบื้องต้น ใครที่วัดแสงไม่แม่นก็ไม่เป็นไรครับ เพียงแต่ต้องเข้าใจว่า จะต้องแก้ไขอย่างไร เช่น
ถ่ายมาแล้ว Under ก็อาจต้อง เพิ่มขนาดรูรับแสงหรือลด Shutter Speed ให้ต่ำลง ในทางกลับกัน
ถ่ายมาแล้ว Over ก็อาจต้อง ลดขนาดรูรับแสงหรือเพิ่ม Shutter Speed ให้สูงขึ้น เป็นต้น
ตัวผมเองก็ใช่ว่าจะวัดแสงแม่นไปซะทุกรูป ในบางครั้งถึงกับหลงทิศก็มี
แต่ผมรู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร แค่นี้ก็สามารถได้งานติดมือกลับบ้านแล้ว
ในหลายครั้งผมไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะต้องชดเชยยังไง หรือวัดแสงตรงไหน
ถ่ายเลยครับ แล้วดูรูปหลังกล้อง
ถ้าไม่พอใจก็ปรับแต่งเอาตรงนั้นแหละ จะเพิ่มจะลด "รูรับแสง"
หรือจะเพิ่มจะลด "Shutter Speed" อะไรก็ว่ากันไป
เพื่อให้ได้รูปอย่างที่ต้องการ กล้องดิจิตอลสมัยนี้ วัดแสงแม่นมากทีเดียว
ให้กล้องมันวัดให้ พอใจ ไม่พอใจอย่างไร
ก็ปรับจูนอีกนิดหน่อยก็เอาอยู่
รูปต่อไป หากเป็นลักษณะนี้ให้ระวัง ถ้าใช้ Center-Weighted วัดแสงที่รถ
รูปอาจจะติด under เพราะรถมีความแวววาวสูงมาก คล้ายกับกระจกเงาสะท้อนแสงดีๆ นี่เอง
จึงทำให้แสงเข้ากล้องมาก
หลายๆ ครั้ง ก็ไม่จำเป็นต้องไป "คำนึง คำนวณ " อะไรมากครับ
ยุคนี้แล้ว ถ่ายปุ๊ป เห็นผลลัพธ์ปั๊ป ไม่พอใจก็ถ่ายใหม่
เพียงแต่ในบางครั้ง ถ้าเราคิดและวางแผนซักนิด มันอาจได้ผลลัพธ์ที่เร็วกว่า เท่านั้นเอง
หลักการมองเห็นของดวงตามนุษย์ กับของกล้อง ก็เหมือนกัน คือ
ไม่ได้มองเห็นสีของวัตถุโดยตรง แต่มองเห็น "แสง" ที่สะท้อนออกมาจากวัถุดังกล่าว
วัตถุมีสีอะไร ก็จะสะท้อนแสงสีนั้นออกมา
แต่ข้อจำกัดการมองเห็นของกล้องกับสายตามนุษย์นั้น ยังต่างกันมาก
ส่วนมืดส่วนสว่างในการมองไปยังจุดๆ หนึ่ง สายตามนุษย์แยกแยะออกได้ ขอเพียงแค่มีแสงบ้างเท่านั้น
แต่กล้องไม่เก่งขนาดนั้น ส่วนมืดส่วนสว่าง กล้องยังสู้สายตามนุษย์ไม่ได้
เช่น ถ้าเราถ่ายรูปที่มีทั้งส่วนมืดและส่วนสว่างในรูปเดียวกัน
กล้องมักจะเสียรายละเอียดไปส่วนหนึ่ง คือ
ถ้าเราเลือวัดแสง(แสงพอดี) ที่ส่วนมืด... ส่วนสว่างก็มักจะสว่างไป
หรือถ้าเราเลือกวัดแสง(แสงพอดี) ที่ส่วนสว่าง... ส่วนมืดก็มักจะมืดไป
หรือที่เรารู้จักในนามของ Dynamic Range นั่นเอง(ใครที่ยังไม่รู้ว่า Dynamic Range คืออะไร ลองถาม google ดูเลยครับ)
อย่างรูปนี้ ถือว่ามี 2 สภาพแสงในรูปเดียว คือบริเวณที่โดนแดดจัด กับส่วนที่อยู่ในเงา
หากมองด้วยตาเปล่าในสถานที่จริง ก็สามารถเห็นรายละเอียดในเงาได้ชัดเจนครับ
แต่กล้องไม่สามารถทำได้ถึงขนาดนั้น ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้ ต้องเลือกครับ ว่าจะเอาอะไร
ในที่นี้ถ้าต้องการถ่ายเสือ ก็วัดแสงให้พอดีที่ตัวเสือเลย แน่นอนว่ารายละเอียดในเงามืด
เกือบเป็นสีดำเลยทีเดียว แต่ความสว่างที่ตัวเสือนั้นพอดี
สำหรับจุดอ่อนของกล้องในข้อนี้ เราสามารถนำมันมาใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน
การทำให้ส่วนมืด มืดกว่าเก่า ก็เป็นการขับให้จุดเด่นในภาพ เด่นขึ้นได้เช่นกัน
ถือว่ามีประโยชน์พอสมควรทีเดียว ถ้าเลือกใช้เป็น
รูปนี้ก็มีสภาพแสงต่างกันมาก ถ้าเราเลือกวัดแสงที่จุดไหน อีกจุดก็จะเสียรายละเอียดไป
รูปนี้ วัดแสงที่กุ้งเผา ชดเชยบวกนิดๆ เพราะอยากได้รายละเอียดในส่วนมืดมาด้วย เดี๋ยวส่วนมืดจะมืดไป
ในเบื้องต้น เพียงแค่เข้าใจว่า กล้องในปัจจุบัน มันเป็นแบบนี้
บางครั้งต้องยอมเสียรายละเอียดในบางส่วนไป เพื่อรักษารายละเอียดอีกส่วน
แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ ผมคิดว่าทางผู้ผลิตคงจะพัฒนากล้องให้ดีขึ้น และกำจัดจุดอ่อนตรงนี้ให้น้อยลงได้เมื่อนั้นการวัดแสงก็จะง่ายขึ้นอีกมากครับ
"สี" ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่บอกได้ว่าการวัดแสงนั้นถูกต้องหรือไม่
เช่นเราถ่ายรูปที่มีทั้งสีขาวและสีดำในรูปเดียว แบบนี้เช็คง่ายเลยครับ
ถ้าวัดแสงถูก "ขาวต้องเป็นขาว ดำต้องเป็นดำ"
จากรูปนี้ ยังเห็นยี่ห้อเป็น "สีขาว" ชัดเจน ส่วนบอดี้ก็เป็นสี "ดำ"
ถ้าวัดแสงผิด สมมติว่า Under ไป ยี่ห้อก็จะไม่ขาวมาก จะออกขาวอมเทาๆ นิดนึง หรือ
ถ้าวัดแสงผิด Over ไป ตัวบอดี้ก็จะไม่ดำมาก จะออกไปทางเทาดำมากกว่า
รูปต่อไปเป็นตัวอย่างของการเลือกจุดวัดแสง กับจุดโฟกัสคนละจุดกัน
คือโฟกัสที่คนด้านหน้า แต่วัดแสงที่ท้องฟ้า ระหว่างไหล่ของคนทั้งสอง
สำหรับรูปนี้ ถ้าวัดแสงที่ดวงอาทิตย์ คงได้รูปดำมืดแล้วก็มีจุดขาวๆ อยู่จุดนึง(คือดวงอาทิตย์นั่นเอง)
หรือถ้าวัดแสงพอดีที่ตัวคน ก็คงจะได้ท้องฟ้าขาวสะอาดเลยทีเดียว ไม่มีดวงอาทิตย์กลมๆ ให้เห็น
ฉะนั้น เราก็เลือกวัดแสงบริเวณที่ถือว่ากลางๆ ครับ รูปจะได้ไม่ Over หรือ Under มากไป
การถ่ายรูปลักษณะนี้ การวัดแสงจะลำบากกว่าปกตินิดหน่อย เพราะต้องอาศัยความชำนาญในการเลือกจุดวัดแสงหรือเลือกจุดที่คิดว่าดีแล้ว ก็อาจต้องชดเชยช่วยอีกนิด เพื่อให้ได้รูปอย่างที่ต้องการ
การแยกปุ่มล๊อคค่าแสงออกจากปุ่มโฟกัสจะมีประโยชน์อย่างมาก สำหรับกรณีแบบนี้
เพราะรูปลักษณะนี้ ถ้าเรายังโฟกัสและล๊อคค่าแสงไปในตัว จะต้องได้ชดเชยเกิน 3 Stop แน่นอน
เรียกว่าชดเชยกันจนเหนื่อยเลยครับ ทางผู้ผลิตกล้องจึงมี Function เพิ่มขึ้นมาให้ผู้ใช้
สามารถแยกปุ่มล๊อคค่าแสงออกจากปุ่มโฟกัสได้
แต่ละค่ายมีวิธีการแยกปุ่มล๊อคค่าแสงออกจากปุ่มโฟกัสอย่างไร ก็อ่านในคู่มือนะครับ
รูปนี้ แสงลงกำลังดี เห็นเป็นลำ
อยากให้แสงพอดีที่คนแถวๆ ลำแสง ก็วัดแสงตรงนั้นเลย อาจจะต้องชดเชยแสง
เพื่อเปิดรายละเอียดส่วนอื่นๆบ้าง
ถ้าไม่ชดเชยเลย จะเห็นลำแสงชัดขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยสภาพแวดล้อมมืดขึ้นอีกนิด
แล้วแต่ความชอบของคนถ่ายครับ ว่าชอบแบบไหน
สรุป
- หัวใจหลักของเรื่องการวัดแสงคือ "การเลือกจุดที่จะเป็นตัวแทนของค่าแสงในรูปนั้นๆ แล้วทำการล็อคค่าแสงไว้"
- สาเหตุที่ต้องล็อคค่าแสง เพราะค่าแสงจะไม่เพี้ยนไปจากจุดที่เราต้องการ เวลาเราจัด Composition ใหม่
** ผมบอกไว้ในข้างต้นแล้วว่า "กล้องดิจิตอลมันวัดแสงตลอดเวลา" เมื่อเราจัด Composition ใหม่(Pan กล้อง) ค่าแสงมันก็เปลี่ยนตลอด
ดังนั้นจึงต้องมีการล็อคค่าแสงนั้นไว้ เพื่อไม่ให้ค่าแสงเปลี่ยนขณะที่เราจัด Composition ใหม่
และเพื่อใช้เป็นจุดอ้างอิงในการชดเชยแสงด้วย หากการวัดแสงครั้งแรกยังไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ
ส่วนเรื่อง ควรวัดแสงที่ไหนและชดเชยค่าแสงเท่าไหร่นั้น ต้องออกไปฝึกเองครับ
เพราะไม่มีใครสามารถบอกเป็นกฎเกณฑ์ที่ตายตัวได้
ในเรื่องการวัดแสงก็มีเท่านี้ครับ แต่ในกระบวนการถ่ายนั้นยังไม่จบครับ ยังต้องรู้เรื่อง "การชดเชยแสง" ด้วย
จริงๆ แล้วเรื่องของการวัดแสงกับการชดเชยแสงนั้นจะถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้
เพราะทั้งสองอย่างนี้ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ครับ แต่แยกหัวข้อดีกว่า เพราะเดี๋ยวมันจะยาวเกินไป
ปล. แล้วจะรีบทำข้อมูลเรื่อง "การชดเชยแสง" ให้ในเร็ววันครับ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น