...

วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การวัดแสง (Light Metering) ตอน1

ในเรื่องของการวัดแสงนั้น ต้องทำความเข้าใจ 2-3 เรื่อง ซึ่งถ้าตั้งใจอ่านก็สามารถเข้าใจได้ เรื่องของการวัดแสงนั้นจริงๆ แล้วง่ายมาก
"ทำไมจึงคิดว่าการวัดแสง เป็นเรื่องง่ายล่ะ"  
"เพราะทุกครั้งที่เราจะถ่ายรูป(ด้วยกล้องดิจิตอล) กล้องมันวัดแสงให้เรียบร้อยแล้วครับ มันวัดแสงอยู่ตลอดเวลาครับ" ต่างจากสมัยกล้องฟิมล์ ที่ต้องวัดแสงเอง

โดยส่วนมากของกล้องดิจิตอลนั้น มันจะวัดแสงแล้วล็อคค่าแสงทันทีเมื่อกดชัตเตอร์ลงครึ่งนึงหรือเรียกว่า "การโฟกัส" นั่นเอง พอโฟกัสแล้ว ไม่ว่าจะแพนกล้องอย่างไร ค่าแสงจะไม่เปลี่ยนแล้ว เพราะกล้องจะโฟกัสและล็อคค่าแสงไปในตัวเลย แล้วก็ถ่ายโดยการกดชัตเตอร์จนจมสุดตามปกติ

*** นั่นหมายความว่า คุณโฟกัสที่อะไร กล้องก็จะวัดและล็อคแสงที่ตรงนั้นทันที ***
หลักการข้อนี้สำคัญมาก ต้องเข้าใจน่ะครับ ไม่งั้นไปต่อไม่ได้ แต่กล้องดิจิตอลสมัยนี้ สามารถที่จะเลือก(ตั้งค่า)ได้ว่า เมื่อกดชัตเตอร์ลงครึ่งนึง กล้องจะ...
1. โฟกัสอย่างเดียว ไม่ล็อคค่าแสง (ในกรณีนี้ เราจะเป็นคนเลือกเองว่าจะให้กล้องวัดแสงที่ไหน เพราะเราอาจไม่เอาค่าแสงที่จุดเดียวกับจุดที่เราโฟกัสก็ได้) หรือ...
2. ทั้งโฟกัสและล็อคค่าแสงทันที
แล้วแต่คน แล้วแต่กรณี แล้วแต่ความชอบครับ.
*** อย่าลืมที่ผมบอกว่า กล้องดิจิตอลมันวัดแสงตลอดเวลา แค่เราเปิดกล้องขึ้นมา กล้องมันก็จะวัดแสงทันที เราแพนกล้องไปที่ไหน มันก็จะวัดแสงตรงนั้น ฉะนั้นเรามีหน้าที่แค่ "เลือกจุดที่จะให้กล้องวัดแสง" กับ "ล็อคค่าแสง" เท่านั้น ***

ในเบื้องต้นผมแนะนำว่าให้แยกปุ่มโฟกัสออกจากปุ่มล๊อคค่าแสงก่อน นั่นก็คือ จะวัดแสงก็กดปุ่มนึง จะโฟกัสก็กดอีกปุ่มนึง สำหรับกล้องนิคอนให้ล๊อคค่าแสงด้วยการกดปุ่ม AE-L แทน ส่วนการโฟกัส ก็โฟกัสด้วยปุ่มโฟกัสเหมือนเดิม ส่วนค่ายอื่นๆ ผมไม่ทราบครับ แต่คิดว่าในคู่มือทุกเล่มมีบอกไว้ครับ
ถามว่าทำไมเราต้องแยกปุ่มล๊อคค่าแสงออกจากปุ่มโฟกัส ?
เพราะบางครั้ง หรือหลายๆ ครั้ง จุดที่เราวัดแสงมันเป็นคนละจุด กับจุดที่เราต้องการโฟกัสนั่นเอง

ทีนี้เราลองมาดูวิธีการของการวัดแสงกัน
หลักการก็ง่ายมากครับ เราเล็งจุดโฟกัสไปที่อะไร กล้องมันก็จะวัดแสงตรงนั้น


 จากรูปตัวอย่าง ผมจะให้แสงพอดีที่ "พระพุทธรูป" ก็ทำดังนี้ครับ
1. เอาจุดโฟกัสไปเล็งที่พระพุทธรูป กดชัตเตอร์ลงครึ่งนึงให้กล้องมันโฟกัส แล้วปล่อยชัตเตอร์
2. จากนั้นก็ล็อคค่าแสง(กดปุ่ม AE-L)
3. โฟกัสอีกที(กดชัตเตอร์ลงครึ่งนึง)
4. จัด Composition ใหม่ตามต้องการ
5. ถ่าย(กดชัตเตอร์จนสุด)
กรรมวิธีมันก็เท่านี้เองครับ อาจดูเหมือนวุ่นวาย แต่ง่ายมากๆ กระบวนการทั้งหมดนั้น เมื่อทำจนชินก็จะใช้เวลาแค่ 2-3 วินาทีเองครับ

มาถึงคำถามสำคัญที่สุดของเรื่องนี้
"ทำไมต้องมีการวัดแสง?"
"เพราะ กล้องถ่ายรูปไม่สามารถถ่ายทอดรูป ให้เหมือนที่ดวงตามนุษย์เห็นได้ การวัดแสงจึงเป็นการบอกให้กล้องทำงาน ให้ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับสิ่งที่มนุษย์เห็นมากที่สุด"
แต่ก่อนที่จะไปต่อเรื่องการวัดแสงนั้นก็ต้องเข้าใจ เรื่อง "ระบบวัดแสง" เสียก่อน
ใครที่ยังไม่เข้าใจเรื่องระบบวัดแสง ตามไปอ่านเรื่องระบบวัดแสงที่
แนะนำว่าให้อ่านเรื่อง ระบบวัดแสงก่อน เพราะเนื้อหามันต่อเนื่องกัน

สำหรับเรื่องของการวัดแสงนั้น จะมีแค่ 2 ค่าหลักๆ เท่านั้นที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ
ขนาดรูรับแสง(F)  กับ Shutter Speed(S)
2 ค่านี้ ถือเป็นหัวใจของการถ่ายรูปเลยทีเดียว มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด
การวัดแสงนั้น ก็เพื่อให้ได้รูปที่มี ---> แสงพอดี
แสงพอดี ---> คือรูปที่ไม่สว่าง หรือมืดจนเกินไป เมื่อเทียบกับสภาพแวดล้อมจริง

หากเขียนสมการ "แสงที่พอดี" คงเขียนได้ประมาณนี้ครับ

แสงที่พอดี = S & F (ให้ "&" หมายถึง "สัมพันธ์")

แสงที่พอดีนั้น กล้องมันคำนวณให้ครับ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ว่า กล้องมันคำนวณยังไง
แต่สิ่งที่เราต้องรู้คือ "สถานการณ์แบบไหน ควรเลือกระบบวัดแสงยังไง และวัดแสงตรงไหน จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด"
ปล.  White Balance กับ Picture Style เป็นระบบการจัดการเรื่องสีครับ ไม่เกี่ยวแสงนะ
ส่วน ISO นั้นเป็นทางเลือกครับ เช่น ในสภาพแสงน้อย Shutter Speed ไม่พอก็เอา ISO เข้ามาช่วย ซึ่งทุกคนคงเข้าใจเรื่อง ISO อยู่แล้ว คงไม่ต้องอธิบายกันมาก

ทีนี้มาดูตัวอย่างกันบ้าง
เวลาถ่ายรูป หากใช้โหมด A คือเลือกขนาดรูรับแสงเอง ส่วน Shutter Speed(S) กล้องมันจะคำนวณให้ว่าต้องใช้ S เท่าไหร่

เช่น ผมตั้ง F ที่ 3.5 แล้วเล็งไปยังจุดที่จะถ่าย กล้องมันจะคำนวณ S ให้ทันที ซึ่งในที่นี้ก็คือ การวัดแสงให้พอดีในขณะนั้นๆ นั่นเอง สมมติว่า แสงที่พอดีในขณะนั้น สามารถระบุค่าได้ และระบุค่าได้เท่ากับ 10 กล้องมันก็สามารถจะคำนวณได้ว่า ในขณะนั้นต้องใช้ S เท่าไหร่ ถ้าตั้งสมการ ให้เห็นภาพคร่าวๆ ก็คงจะตั้งสมการได้ประมาณนี้ครับ

10 = 3.5 & S (เมื่อกล้องมันรู้ค่า F กล้องมันก็จะหาค่า S ได้เสมอ)

ในทางกลับกัน ถ้าเราถ่ายรูปด้วยโหมด S ซึ่งในที่นี้ก็คือ เราระบุค่า Shutter Speed เอง กล้องมันก็สามารถคำนวณได้ว่า ต้องใช้ F ที่เท่าไหร่ จึงจะได้ภาพที่ค่าแสงพอดีในขณะนั้นๆ

มาดูโหมด M กันบ้าง หากใช้โหมดนี้ ก็ต้องเลือกทั้ง F และ S เอง ระบบวัดแสงของกล้องมันก็จะคำนวณให้อีกว่า ค่าแสงที่เกิดจากการตั้ง F และ S ในขณะนั้นๆ "ได้ค่าแสงที่พอดีแล้วหรือยัง" โดยดูที่ Scale วัดแสงว่าอยู่ที่ 0 พอดีหรือไม่ หากยังไม่พอดี(น้อยหรือมากกว่า 0) เราก็ต้องปรับค่าใดค่าหนึ่ง(F หรือ S) หรือทั้งสองค่า ให้ค่าแสงพอดีก่อน จึงจะได้รูปที่ถูกต้อง

ในสภาวะปกตินั้น กล้องจะวัดแสงได้ถูกต้องอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะผิดพลาดได้เหมือนกัน ถ้า "สภาพแสงหรือสี" ในขณะนั้นไม่ปกติ เราจึงต้องอาศัยการชดเชยแสงเข้าร่วมด้วย เพื่อให้ได้ค่าแสงที่ถูกต้อง

สภาวะไม่ปกติเป็นอย่างไร การชดเชยแสงคืออะไร ทำอย่างไร ใช้เมื่อไหร่ เดี๋ยวผมจะเขียนต่อในบทความต่อไปครับ สำหรับวันนี้เบรคไว้เท่านี้ก่อน...

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น