...

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558

"มุมกว้าง" (Wide Angel)

ถ้าเราแบ่งเลนส์สำหรับการถ่ายภาพออกเป็น 3 ระยะตามลักษณะการมองเห็น คือ แบบมุมกว้าง (Wide Angle) แบบปกติ (Normal) และแบบระยะไกล (Telephoto) คำถามง่ายๆ ก็คือ “อะไรเล่นยากที่สุด?”

Sunrise in Mountain

Sunrise in Mountain
Nikon D800, AF-S 14-24 f/2.8, 14mm, f/11

สถานที่: ดอยแม่สลอง

ผมเชื่อว่าคำตอบสำหรับหลายๆ คน รวมทั้งตัวผมเองด้วยเมื่อครั้งหนึ่งในอดีต ก็คือ “เลนส์มุมกว้าง” อย่างไม่มีข้อโต้แย้งเลย และวันนี้เราจะมามองมันในเชิงปรัชญาชีวิตกันเล็กน้อย ว่ามันแสดงหรือสะท้อนถึงอะไรบ้างให้กับชีวิตของเรา
ทำไมเลนส์มุมกว้างจึงเล่นยาก? เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะว่า “มันกว้างกว่าที่ตาเราเห็น” ยิ่งกว้างเท่าไหร่ เรายิ่งจินตนาการภาพที่เลนส์มันเห็นได้ยากมากขึ้นเท่านั้น (ก็เพราะว่าเราเห็นแคบกว่ามัน)

Temple in the Sun

Temple in the Sun
Nikon D3s, AF-S 14-24 f/2.8, 14mm, f/13

สถานที่: วัดพระธาตุดอยสุเทพ

การที่เราเห็นแคบกว่ามัน มีผลยังไงล่ะ? คนลองถ่ายรูปมุมกว้างใหม่ๆ คงจะเคยเจอประสบการณ์แบบนี้กันทุกคน เวลาที่เรามองเห็นภาพสวยงามยิ่งใหญ่อยู่ข้างหน้าเรา และอยากจะเอาเลนส์มุมกว้างมาเก็บภาพความอลังการที่เราเห็นเอาไว้ แต่เมื่อส่องดู เรากลับพบว่า “สิ่งที่ตัวเองเห็นว่าสวย มองเห็นว่าเด่น กลับถูกเตะออกไปไกลจนเล็กลงมากมายในภาพ” มันไม่สวย ไม่เด่น ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนที่ตาเห็นอีกต่อไป
ไม่เพียงเท่านั้น ภาพจากเลนส์มุมกว้าง ยังแทบเป็นไปไม่ได้ ที่จะถ่ายเน้นวัตถุใดวัตถุหนึ่ง แบบไม่มีอย่างอื่นเข้ามาในภาพเลย นอกเสียจากว่าวัตถุนั้นๆ จะมีขนาดใหญ่โตจริงๆ และเราอยู่ใกล้เพียงพอเท่านั้น



Under a tree

Lost Under Trees
Nikon D800, AF-S 14-24 f/2.8, 14mm, f/8

สถานที่: วัดพระปฐมเจดีย์

ซึ่งกรณีนี้แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับการใช้เลนส์ระยะไกล หรือ Telephoto ที่ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่มือเก่าก็แทบจะใช้ได้เลยแบบไม่ต้องคิดมาก ก็จะไปยากอะไร เห็นอะไรน่าสนใจก็ซูมเจาะเข้าไปให้เห็นสิ่งนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น เห็นเฉพาะสิ่งนั้นแยกออกมาจากสิ่งอื่นๆ ยิ่งขึ้น ยิ่งทางยาวโฟกัสยิ่งไกลเท่าไหร่ ก็ยิ่งแยกสิ่งที่เราสนใจออกจากสิ่งอื่นๆ ได้ดีเท่านั้น และยิ่งเจาะเป็นจุดๆ ได้ง่ายเท่านั้น

Raft in Misty Dawn

แถมรูปจาก Telephoto ซะหน่อย: Raft in Misty Dawn
Nikon D3, AF-S 70-200 f/2.8 VRII, 200mm, f/2.8

สถานที่: ปางอุ๋ง

แล้วมันมีประเด็นอะไรให้เราคิดกันได้บ้างล่ะ? มันสะท้อนธรรมชาติอะไรของตัวเราเองให้เราเห็นได้บ้าง?
ธรรมชาติของคนเรา เวลาที่เราคิดเรื่องอะไร มองเห็นประเด็นอะไร ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การศึกษา ครอบครัว การทำงาน ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เมื่อเรา “เห็น” อะไรแล้ว มันง่ายกว่าใช่มั้ยล่ะ ที่เราจะเลือกที่จะ “เจาะ” ลงไปมองเฉพาะประเด็นๆ นั้น และไม่เอาเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

Stairway to Heaven at Gate of Hell

Stairway to Heaven at the Gate of Hell
Nikon D800, AF-S 14-24 f/2.8, 14mm, f/11, HDR
สถานที่: วัดร่องขุน

นั่นก็คือ ธรรมชาติของความคิดเรา ก็ไม่ต่างอะไรกับการใช้เลนส์ Telephoto เจาะเข้าไปในสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเห็นในใจ ยิ่งเจาะเข้าไปเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมองเห็นเฉพาะสิ่งนั้นเป็นเรื่องๆ แยกออกจากสิ่งอื่นมากเท่านั้นแหละ ธรรมชาติของเลนส์ Telephoto มันทำให้สิ่งที่เราสนใจ ลอยออกจากสิ่งอื่นได้ง่าย แล้วก็เบลอสิ่งที่เราไม่สนใจทิ้งไปซะ นอกจากนั้น เพราะว่ามันค่อนข้างจะบีบมุมมองให้เห็นแคบ ดังนั้นเราก็จะมองเห็นเฉพาะสิ่งที่เราโฟกัสอยู่แล้วโดยธรรมชาติ

Rainy day in Kyoto

Rainy day in Kyoto
Nikon D3s, AF-S 24-70 f/2.8, 24mm, f/10, HDR
สถานที่: เกียวโต

แล้วอะไรล่ะคือเลนส์มุมกว้าง?
ผมว่ามันยากทีเดียวนะ ที่จะมองเห็นอะไรกว้างกว่าที่ความคิดเราเองเห็น กว้างกว่าที่ประสบการณ์ของเราจะเอื้ออำนวยให้ดวงตาในใจของเราเห็นได้ และมันจะยากมากมายเมื่อเราจะต้องมองเห็นมันได้โดยที่ไม่เปลี่ยนจุดยืนเลยแม้ แต่ก้าวเดียว … เลนส์มุมกว้าง มันจะเห็นเท่ากับที่เราต้องเปลี่ยนจุดยืน โดยเราจะต้องถอยออกจากจุดที่เรายืนออกไปหลายก้าวเสมอๆ แหละ

Inside the Temple

Inside the Temple
Nikon D3s, AF-S 14-24 f/2.8, 14mm, f/2.8
สถานที่: วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก

เมื่อเรามองกว้างขึ้น เห็นกว้างขึ้น เรามักจะเห็นได้เองว่า สิ่งที่เคยคิดว่าสำคัญ ยิ่งใหญ่ ต้องเน้น ต้องโฟกัส มันกลับถูกเตะไกลออกไป กลายเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในภาพที่ใหญ่กว่านั้นมาก นอกจากสิ่งนั้นแล้วยังมีอย่างอื่นอีกเยอะที่อยู่ในบริบทล้อมรอบ บางครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะเห็นว่า สิ่งที่เราเห็นว่ามันสำคัญ มันไม่ได้เด่นหรือสำคัญเพราะตัวมันเอง แต่เพราะองค์ประกอบรองๆ อื่นๆ ต่างหาก หากไม่มีส่วนอื่น มันก็คงไม่เด่นขึ้นมาได้

Junk Beach

Junk Beach
Nikon D3s, AF-S 24-70 f/2.8, 24mm, f/7.1
สถานที่: หาดแห่งหนึ่งแถวชุมพร

การมองมุมกว้าง หรือคิดมุมกว้าง ก็เหมือนกับการถ่ายรูปด้วยเลนส์มุมกว้างน่ะแหละ เราจะ “มองภาพทั้งภาพให้สวย” ไม่ใช่มองแค่เพียงบางส่วนที่เราเห็นว่าสวยเท่านั้น เท่านั้นไม่พอ เรายังต้องมองด้วยใจให้เห็นอีกด้วยว่า “ภาพ ทั้งภาพที่เรามองเห็นนั้น เป็นเพียงแค่กรอบแคบๆ ที่ใจเราปิดกั้นตัวเราไว้ จากภาพที่ใหญ่กว่านั้น ที่เรามองไม่เห็นจากจุดที่เรายืนอยู่”
นั่นคือจุดที่หลายคนก้าวไปไม่ถึง ก้าวไปไม่ได้ เวลาคิดอะไรไม่เคยสนใจในภาพใหญ่ที่ตัวเองมองเห็น และไม่สามารถคิดได้ว่าภาพที่ตัวเองเห็นทั้งหมดนั้น แท้จริงแล้วมันเป็นเพียงกรอบแคบๆ ที่ถูกจำกัดด้วยความคิดของตัวเองเท่านั้นเอง


Through the colored glass

Through Colored Glasses
Nikon D800, AF-D 28 f/2.8, 28mm, f/4
สถานที่: วัดนิเวศธรรมประวัติ

หลายต่อหลายคนไม่เคยคิดที่จะปรับวิธีคิดให้กว้างขึ้น ยังคงคิดแต่จะ “เจาะ” มองเป็นอย่างๆ เมื่อต้องมองกว้าง ผลที่ได้ก็เหมือนกับการเอาเลนส์มุมกว้างไป “จ่อวัตถุ” น่ะแหละ บ่อยครั้งที่เราจะได้วัตถุที่รูปร่างบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง โดดออกจากฉากหลังและวัตถุอื่นๆ แบบไม่ขาดกันทั้งหมดเหมือนกับใช้ Telephoto ..

Fallen Flowers

Fallen Flowers
Nikon D3s, AF-S 14-24 f/2.8, 24mm, f/4
สถานที่: วัดพระพุทธบาท

การคิดให้กว้างขึ้นจริงๆ ด้วยการมองภาพทั้งภาพให้สวยเป็นภาพเดียว ไม่ใช่แค่ความสวยงามของส่วนใดส่วนหนึ่งนั้น เป็นปรัชญาของ Complex System อย่างหนึ่งที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีว่า
“The whole is greater than sum of its parts”
ซึ่งคงไม่มีข้อความไหนอธิบายเรื่องนี้ได้ดีกว่านี้อีกแล้ว หากเราแค่เห็นกว้างขึ้น แต่ไม่เปลี่ยนวิธีคิด ยังคงคิดแบบเจาะเป็นเรื่องๆ แบบเดิมๆ ซึ่งเหมือนกับการใช้เลนส์มุมกว้างจ่อไปที่วัตถุนั้น … จะนำมาซึ่งข้อเสียใหญ่ๆ ก็คือ … ภาพที่บิดเบี้ยว เห็นตัวเองสำคัญกว่าองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งหมด โดยไม่แยกคิดด้วยซ้ำ … แต่ก็จะคิดไปเองว่า เรามองกว้างแล้ว เราเห็นกว้างแล้ว แต่แท้ที่จริงเป็นเพียงการยกไม่ยอมมอง “ภาพรวม” เลยต่างหาก … แบบนี้คือ “คิดแคบ แต่แค่เห็นกว้าง”

Asakusa Temple

Asakusa Temple
Nikon D3s, AF-S 24-70 f/2.8, 24mm, f/7.1
สถานที่: วัด Asakusa

อยากจะมองและคิดให้ได้กว้างๆ ต้องทำยังไง? คำแนะนำง่ายๆ ของผมคือ ถอยจากจุดที่เรากำลังยืนอยู่สักก้าวสองก้าว แล้วลองมองภาพนั้นใหม่ให้มันกว้างขึ้นสักนิด เราจะเห็นภาพที่กว้างขึ้นนิดหน่อย เราจะเห็นว่าสิ่งที่เราเคยเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ มันเล็กลง เล็กลง มีสิ่งอื่นในบริบทที่ตอนแรกเราอาจจะมองไม่เห็นมากขึ้นๆ

Misty Lake in Starry Night

Misty Lake in Starry Night
Nikon D3s, AF-S 14-24 f/2.8, 14mm, f/2.8
สถานที่: ปางอุ๋ง

เมื่อเรากลับมายืนที่เดิม เราจะเห็นภาพแบบเดิมที่เคยเห็นก่อนที่เราจะถอยหลังไป แต่เราจะรู้ว่า “เลนส์มุมกว้างเห็นอะไร” นั่นแหละ ประเด็นที่สำคัญ เมื่อเราเห็นภาพจากมุมที่กว้างขึ้นแล้ว เราจะเข้าใจไปเองว่า สิ่งที่เราเห็นอยู่เป็นปกตินี่แหละ ก็คือการโฟกัสให้แคบเข้ามาแล้ว ของสิ่งที่กว้างกว่านั้น
ผมคงไม่ยกตัวอย่างอะไรมากมายนัก บางทีเราอาจจะยอมถอยออกมาจากวิชาที่เราสอนสักก้าวหนึ่งมั้ย บางทีเราต้องถอยจากมุมมองทางการเมืองที่เรามีอยู่บ้างมั้ย บางทีเราอาจจะต้องถอยจากการมองเห็นปัญหาของตัวเองเป็นเรื่องใหญ่ สิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมบ้างมั้ย เราเคยว่าคนอื่นว่าอย่างโน้นอย่างนี้บ้างมั้ย ทั้งที่จริงๆ แล้วเราก็อาจจะเป็นแบบเดียวกันน่ะแหละ เพียงแต่เป็นกับคนละเรื่องหรือเปล่า ฯลฯ

Up where we belong

Up where we belongสถานที่: ระหว่างเส้นทางไปภูชี้ฟ้า

เลนส์มุมกว้าง เป็นเลนส์ที่ถ่ายยากที่สุด เล่นยากที่สุด ไม่ต่างอะไรกับธรรมชาติของเรา ที่คิดให้กว้างจริงๆ น่ะเป็นเรื่องยาก เพราะธรรมชาติของเราคิดโฟกัสลงให้แคบกับอะไรแค่ประเด็นเดียว ไม่เอามาคิดร่วมกับเรื่องอื่นน่ะ ง่ายเป็นเรื่องธรรมชาติ บางครั้งเราว่าคนอื่นมากมาย แต่ไม่เคยมองในมุมที่กว้างขึ้นแม้แต่นิดเดียวเลย ว่าสิ่งที่เรากำลังว่าคนอื่นอยู่นั่นน่ะ เราเองน่ะแหละที่เป็นเองเกือบจะทั้งนั้น … ถ้าไม่ถอยออกมาจากจุดที่เรามองเห็นแต่ความใจแคบของตัวเอง แล้วเราจะเห็นเงาของตัวเองในภาพที่กว้างขึ้นได้หรือ?

Last of the Sunflowers

Last of the Sunflowers
Nikon D3s, AF-S 14-24 f/2.8, 14mm, f/8
สถานที่: ทุ่งทานตะวัน วัดเวฬุวัน ลพบุรี

แต่ว่าพอเราเริ่มที่จะมองเห็นอย่างที่เลนส์มุมกว้างมองเห็น มันสนุกอย่าบอกใครเชียวล่ะครับ เพราะภาพที่ได้จากเลนส์มุมกว้างมักจะเป็นอะไรที่ทำให้เราเห็นภาพทั้งภาพเป็น ภาพเดียวกัน ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เป็นภาพที่สวยทั้งภาพ มากกว่าสวยเป็นส่วนๆ เป็นภาพที่ขาดอะไรในนั้นไปไม่ได้

A place with no-name

Reflection in Canal
Nikon D800, AF-S 24-70 f/2.8, 24mm, f/8
สถานที่: ระหว่างเส้นทางท่าเรือ-สระบุรี

ก็เช่นเดียวกับเมื่อเราเริ่มคิดอะไรที่กว้างขึ้นกว่าเดิมเป็น ไม่ใช่แค่เห็นกว้างขึ้นแต่ยังคิดแคบเท่าเดิมนั่นแหละ เราจะเริ่มสนุกกับความคิดของเรามากขึ้น เห็นอะไรสวยงามมากขึ้น …. อะไรที่เคยเป็นปัญหาเป็นประเด็นยิ่งใหญ่ ในกรอบแคบๆ ของเรา มันก็เล็กลงไปตามธรรมชาติ
บางคร้ัง … เราจะเห็นด้วยซ้ำไปว่า เรื่องที่เป็นปัญหา เป็นประเด็นอะไรนั้น มันทำให้ภาพทั้งภาพสวยขึ้นด้วยซ้ำไป มันทำให้สิ่งที่ดีสิ่งที่งามสิ่งที่เด่น มีตัวตนด้วยซ้ำไป … ใช่สินะ มันก็ไม่ได้แย่อะไรขนาดนั้นสักหน่อยไม่ใช่หรือ?

Blown Mountain

Blown Mountain
Nikon D800, AF-S 24-70 f/2.8, 24mm, f/8
สถานที่: ระหว่างเส้นทางพระพุทธบาท-ท่าเรือ

ยิ่งที่แคบเท่าไหร่ เรายิ่งต้องใช้เลนส์มุมกว้างขึ้นเท่านั้น ลองใช้เลนส์ระยะไกลหรือแม้แต่ระยะปกติถ่ายในที่แคบๆ เช่นในโบสถ์ หรือว่าในห้องแคบๆ สิครับ ถ่ายยากมาก ยิ่งถ้าต้องถ่ายกลุ่มคนด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้เลนส์มุมกว้าง ไม่งั้นคงเก็บไม่หมด
แล้วมันจะต่างอะไรกับความคิดของคนเราล่ะ ยิ่งเราอยู่ในที่แคบ ไม่ว่าจะเป็นเชิงสถานการณ์ หรือการทำงานโปรเจ็คเล็กๆ ศึกษาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือคิดประเด็นเล็กๆ น้อยๆ เรายิ่งต้องคิดและเห็นให้มันกว้าง ยิ่งถ้าจะคิดเพื่อให้คนได้ประโยชน์จากความคิดเรามากที่สุด เรายิ่งต้องคิดกว้างเท่านั้น ไม่งั้นคงจะเก็บไม่หมดแน่นอน
อยากจะลองเล่น “เลนส์มุมกว้าง” ในความคิดตัวเองดูบ้างหรือเปล่าครับ?

Sunset in Mountain

Sunset in Mountain
Nikon D800, AF-S 24-120 f/4, 24mm, f/4
สถานที่: ระหว่างเส้นทางไปภูชี้ฟ้า

ขอขอบคุณ ภาพสวยๆ เครดิตจากคุณ Rawitat Pulam

การถ่ายภาพแนว Sport ตอนที่ 2

ตั้งความไวแสงให้สูงขึ้น เทคนิคประการหนึ่งของการถ่ายภาพกีฬา ให้ได้คุณภาพ ก็คือการใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้สูงภาพสำหรับการจับ Action ของการเล่น หรือการแข่งขันที่ต้องการให้หยุดนิ่ง แต่การถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงนั้นสภาพแสงที่ต้องการก็ต้องมีมากพอ เหมือนกัน การตั้งความไวแสงในการถ่ายภาพให้สูงขึ้น จะช่วยให้สามารถเลือกความเร็วชัตเตอร์สูงในการถ่ายภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น คำถามที่ทุกคนอยากถามก็คือ แล้ว Noise จะมากขึ้นแค่ไหน ถ้าเทียบกับการถ่ายภาพปกติที่ตั้งกันอยู่ ISO 100 ในการถ่ายภาพทั่วไป สมมุติว่าได้ความเร็วชัตเตอร์ใช้งานได้ที่ 1/30 วินาที การถ่ายภาพกีฬานั้น จะให้ดี ความไวชัตเตอร์ควรอยู่ที่ไม่ต่ำหว่า 1/250 วินาที  หรือจะให้ดีก็ควรอยู่ที่ 1/400 หรือ 1/500 วินาที จะจับภาพให้นิ่งได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเทียบกับความไวชัตเตอร์ที่ 1/30 วินาทีแล้ว จะห่างกันถึง 3-5 สต็อปทีเดียว การเร่งความไวแสงให้สูงขึ้นจึงอาจจะต้องเร่งมากขึ้นระหว่าง 3-5 สต็อป นั่นหมายความว่า ความไวแสงที่จะตั้งนั้นอยู่ที่ ISO 800 หรือ 1600 หรือ 3200 ทีเดียว ปัญหาของกล้องดิจิตอลก็คือ การตั้งความไวแสงที่สูงขึ้นนั้นมักจะมีสัญญาณรบกวนในภาพตามขึ้นมาด้วย

ข้อสังเกตก็คือ กล้อง D-SLR ในรุ่นใหม่ๆ ที่เข้าตลาดกันมาในตอนหลังๆ นี้  พบว่ากล้องหลายรุ่นหลายยี่ห้อ  มีการพัฒนาแก้  และ ลดสัญญาณรบกวนได้มากขึ้นเยอะทีเดียวเมื่อเทียบกับกล้องเมื่อ 4-5 ปีก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่การตั้งถ่ายภาพที่ ISO 800-1600 พบว่ามี noise บ้างพอรับได้ หลายกล้องมี noise ค่อนข้างต่ำและหลายกล้องที่ถ่ายที่ ISO 3200 ภาพที่ได้ก็ยังรับคุณภาพได้แม้ว่าจะมี noise บ้าง แต่สำหรับกล้องระดับสูงขึ้นมา พบว่าส่วนใหญ่ถ่ายภาพที่ ISO 3200 ได้คุณภาพดี Noise รับได้เลยครับ ทั้งนี้ผมขอแนะนำให้คุณทดสอบการใช้งาน ISO สูงในกล้องของคุณเองว่า เล่นได้สูงถึง ISO เท่าไหร่ที่คุณยอมรับคุณภาพรูปถ่ายของคุณได้
ตั้งระบบถ่ายภาพ สำหรับระบบถ่ายภาพที่จะใช้นั้น ผมแนะนำว่าควรเป็นระบบถ่ายภาพอัตโนมัติแบบเลือกความไวชัตเตอร์ที่ต้องการได้ คือ Shutter Priority AE ซึ่งก็คือ [S] หรือ [Tv] จะง่ายและรวดเร็วกว่าการตั้งในระบบอื่นๆ ซึ่งต้องควบคู่ไปกับการชดเชยแสงให้ถูกต้องก็จะได้ภาพที่มีค่าแสงที่แม่นยำ ความไวชัตเตอร์ที่ควรเลือกใช้สำหรับการถ่ายภาพกีฬา ก็คือ ความไวชัตเตอร์ ระหว่าง 1/250 หรือ 1/320 หรือ 1/400 หรือ 1/500 วินาที ซึ่งก็ขึ้นกับความต้องการของการถ่ายภาพกีฬา ในแต่ละประเภท
ตั้งการถ่ายภาพเป็นระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง การถ่ายภาพกีฬา ความเร้าใจของภาพอยู่ที่ปฏิกิริยาของผู้แข่งขัน  อารมณ์ สีหน้า ความสุดยอด ความมุ่งมั่นในชัยชนะ ปฏิสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากแรงเร่ง แรงเร้า ในการแข่งขัน การตั้งระบบถ่ายภาพให้เป็นระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง ทำให้การบันทึกภาพสามารถเก็บจังหวะเร่ง จังหวะเร้าได้แน่นอนกว่า การตั้งระบบถ่ายภาพเป็นแบบถ่ายทีละภาพ ซึ่งอาจจะพลาดจังหวะเร่งจังหวะเร้าที่น่าระทึกใจไปอย่างน่าเสียดาย

เลนส์ถ่ายภาพและขาตั้งกล้อง ในเรื่องนี้ ขอแยกพิจารณาเป็น 2 เรื่อง ความเข้าใจส่วนใหญ่ก็คือควรเป็นเลนส์เทเล หรือเลนส์ถ่ายไกลยาวๆ ซึ่งก็จริงละครับ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับว่าคุณมีเลนส์ถ่ายไกลที่ยาวแค่ไหน ส่วนใหญ่ก็จะมีกันทั่วไป ระดับ 200 มม. ถ้าจะให้ดีควรมีถึง 400-500 มม.แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับระยะห่างของการถ่ายภาพด้วยเช่นกัน ถ้าคุณมีเลนส์ขนาดจำกัด วิธีการแก้ปัญหาก็คือ พยายามเขาใกล้จุดที่ต้องการถ่ายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือวิธีสุดท้ายก็คือการ Crop ภาพช่วยให้ใหญ่ขึ้น
ส่วนในเรื่องของขาตั้งกล้องนั้น โดยทั่วไปไม่มีความสะดวกในการใช้งานประเภทนี้ ทั้งการตั้งขาตั้งกล้อง และการเคลื่อนที่ถ่ายภาพ แต่ถ้าต้องการใช้งาน ขอแนะนำว่าควรใช้ Monopod จะให้ความสะดวกได้มากกว่า และการเคลื่อนที่ที่ง่ายกว่า


คนถ่ายภาพ
ปัจจัยสำคัญสิ่งสุดท้ายนอกเหนือจากเรื่องของกล้องถ่ายภาพ เมื่อมีการปรับตั้งกล้องให้พร้อมสำหรับการถ่ายภาพแล้ว ก็คือ คนถ่ายภาพ ก็ตัวเราเองนั่นแหละ การถ่ายภาพกีฬานั้น เป็นการจับภาพความเร้าใจของการแข่งขัน จังหวะ และอารมณ์ สมาธิในการถ่ายภาพเป็นสิ่งจำเป็นในการถ่ายภาพ การมองภาพผ่านช่องมองภาพ ตั้งกล้องให้เล็งไปยังจุดที่ต้องการถ่ายภาพพยายามให้วัตถุที่ต้องการถ่าย ภาพอยู่ในตำแหน่งของจุดโฟกัสภาพ การแพนกล้องตามวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพ กดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งค้างไว้ เพื่อกระตุ้นให้ระบบออโต้โฟกัสทำงานโฟกัสภาพวัตถุอย่างต่อเนื่อง และกดถ่ายภาพทันทีเมื่อต้องการเก็บความเร้าใจในจังหวะนั้นๆ แน่นอนครับว่า การถ่ายภาพอย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณมีโอกาสที่จะได้ภาพที่มีความเร้าใจที่ดีที่สุดให้เลือกใช้ ความไวชัตเตอร์ที่สูงพอ จะจับจังหวะของการเคลื่อนที่ให้หยุดนิ่งในตำแหน่งที่คุณต้องการได้ การทำงานของจุดโฟกัสภาพอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้คุณมีโอกาสได้ภาพที่โฟกัสชัด เก็บภาพอารมณ์ และสีหน้า  และท่าทางได้อย่างแม่นยำดีขึ้น ภาพสุดยอดกีฬานั้น เขาได้มาด้วยวิธีเหล่านี้ทั้งสิ้นครับ
กล้องและอุปกรณ์เป็นเสมือนช่วยให้ เสือติดปีก แต่จะเป็นเสือที่เขี้ยวแหลมคมก็ต้องเป็นตัวเสือเอง การถ่ายภาพ เป็นสิ่งที่ต้องทดสอบ ทดลอง ฝึกฝน แล้วคุณจะพบว่า คุณก็สามารถถ่ายภาพกีฬาได้อย่างมืออาชีพเหมือนกัน ขึ้นกับว่าโอกาสมีมาให้หรือเปล่าเท่านั้นเองครับ