ตั้งความไวแสงให้สูงขึ้น เทคนิคประการหนึ่งของการถ่ายภาพกีฬา ให้ได้คุณภาพ
ก็คือการใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้สูงภาพสำหรับการจับ Action ของการเล่น
หรือการแข่งขันที่ต้องการให้หยุดนิ่ง
แต่การถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงนั้นสภาพแสงที่ต้องการก็ต้องมีมากพอ
เหมือนกัน การตั้งความไวแสงในการถ่ายภาพให้สูงขึ้น
จะช่วยให้สามารถเลือกความเร็วชัตเตอร์สูงในการถ่ายภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น
คำถามที่ทุกคนอยากถามก็คือ แล้ว Noise จะมากขึ้นแค่ไหน
ถ้าเทียบกับการถ่ายภาพปกติที่ตั้งกันอยู่ ISO 100 ในการถ่ายภาพทั่วไป
สมมุติว่าได้ความเร็วชัตเตอร์ใช้งานได้ที่ 1/30 วินาที การถ่ายภาพกีฬานั้น
จะให้ดี ความไวชัตเตอร์ควรอยู่ที่ไม่ต่ำหว่า 1/250 วินาที
หรือจะให้ดีก็ควรอยู่ที่ 1/400 หรือ 1/500 วินาที
จะจับภาพให้นิ่งได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเทียบกับความไวชัตเตอร์ที่ 1/30
วินาทีแล้ว จะห่างกันถึง 3-5 สต็อปทีเดียว
การเร่งความไวแสงให้สูงขึ้นจึงอาจจะต้องเร่งมากขึ้นระหว่าง 3-5 สต็อป
นั่นหมายความว่า ความไวแสงที่จะตั้งนั้นอยู่ที่ ISO 800 หรือ 1600 หรือ
3200 ทีเดียว ปัญหาของกล้องดิจิตอลก็คือ
การตั้งความไวแสงที่สูงขึ้นนั้นมักจะมีสัญญาณรบกวนในภาพตามขึ้นมาด้วย
ข้อสังเกตก็คือ กล้อง D-SLR
ในรุ่นใหม่ๆ ที่เข้าตลาดกันมาในตอนหลังๆ นี้
พบว่ากล้องหลายรุ่นหลายยี่ห้อ มีการพัฒนาแก้ และ
ลดสัญญาณรบกวนได้มากขึ้นเยอะทีเดียวเมื่อเทียบกับกล้องเมื่อ 4-5
ปีก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่การตั้งถ่ายภาพที่ ISO 800-1600 พบว่ามี noise
บ้างพอรับได้ หลายกล้องมี noise ค่อนข้างต่ำและหลายกล้องที่ถ่ายที่ ISO
3200 ภาพที่ได้ก็ยังรับคุณภาพได้แม้ว่าจะมี noise บ้าง
แต่สำหรับกล้องระดับสูงขึ้นมา พบว่าส่วนใหญ่ถ่ายภาพที่ ISO 3200
ได้คุณภาพดี Noise รับได้เลยครับ ทั้งนี้ผมขอแนะนำให้คุณทดสอบการใช้งาน ISO
สูงในกล้องของคุณเองว่า เล่นได้สูงถึง ISO
เท่าไหร่ที่คุณยอมรับคุณภาพรูปถ่ายของคุณได้
ตั้งระบบถ่ายภาพ สำหรับระบบถ่ายภาพที่จะใช้นั้น
ผมแนะนำว่าควรเป็นระบบถ่ายภาพอัตโนมัติแบบเลือกความไวชัตเตอร์ที่ต้องการได้
คือ Shutter Priority AE ซึ่งก็คือ [S] หรือ [Tv]
จะง่ายและรวดเร็วกว่าการตั้งในระบบอื่นๆ
ซึ่งต้องควบคู่ไปกับการชดเชยแสงให้ถูกต้องก็จะได้ภาพที่มีค่าแสงที่แม่นยำ
ความไวชัตเตอร์ที่ควรเลือกใช้สำหรับการถ่ายภาพกีฬา ก็คือ ความไวชัตเตอร์
ระหว่าง 1/250 หรือ 1/320 หรือ 1/400 หรือ 1/500 วินาที
ซึ่งก็ขึ้นกับความต้องการของการถ่ายภาพกีฬา ในแต่ละประเภท
ตั้งการถ่ายภาพเป็นระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง การถ่ายภาพกีฬา
ความเร้าใจของภาพอยู่ที่ปฏิกิริยาของผู้แข่งขัน อารมณ์ สีหน้า ความสุดยอด
ความมุ่งมั่นในชัยชนะ ปฏิสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากแรงเร่ง
แรงเร้า ในการแข่งขัน การตั้งระบบถ่ายภาพให้เป็นระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง
ทำให้การบันทึกภาพสามารถเก็บจังหวะเร่ง จังหวะเร้าได้แน่นอนกว่า
การตั้งระบบถ่ายภาพเป็นแบบถ่ายทีละภาพ
ซึ่งอาจจะพลาดจังหวะเร่งจังหวะเร้าที่น่าระทึกใจไปอย่างน่าเสียดาย
เลนส์ถ่ายภาพและขาตั้งกล้อง ในเรื่องนี้ ขอแยกพิจารณาเป็น 2 เรื่อง
ความเข้าใจส่วนใหญ่ก็คือควรเป็นเลนส์เทเล หรือเลนส์ถ่ายไกลยาวๆ
ซึ่งก็จริงละครับ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับว่าคุณมีเลนส์ถ่ายไกลที่ยาวแค่ไหน
ส่วนใหญ่ก็จะมีกันทั่วไป ระดับ 200 มม. ถ้าจะให้ดีควรมีถึง 400-500
มม.แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับระยะห่างของการถ่ายภาพด้วยเช่นกัน
ถ้าคุณมีเลนส์ขนาดจำกัด วิธีการแก้ปัญหาก็คือ
พยายามเขาใกล้จุดที่ต้องการถ่ายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หรือวิธีสุดท้ายก็คือการ Crop ภาพช่วยให้ใหญ่ขึ้น
ส่วนในเรื่องของขาตั้งกล้องนั้น
โดยทั่วไปไม่มีความสะดวกในการใช้งานประเภทนี้ ทั้งการตั้งขาตั้งกล้อง
และการเคลื่อนที่ถ่ายภาพ แต่ถ้าต้องการใช้งาน ขอแนะนำว่าควรใช้ Monopod
จะให้ความสะดวกได้มากกว่า และการเคลื่อนที่ที่ง่ายกว่า
คนถ่ายภาพ
ปัจจัยสำคัญสิ่งสุดท้ายนอกเหนือจากเรื่องของกล้องถ่ายภาพ
เมื่อมีการปรับตั้งกล้องให้พร้อมสำหรับการถ่ายภาพแล้ว ก็คือ คนถ่ายภาพ
ก็ตัวเราเองนั่นแหละ การถ่ายภาพกีฬานั้น
เป็นการจับภาพความเร้าใจของการแข่งขัน จังหวะ และอารมณ์
สมาธิในการถ่ายภาพเป็นสิ่งจำเป็นในการถ่ายภาพ การมองภาพผ่านช่องมองภาพ
ตั้งกล้องให้เล็งไปยังจุดที่ต้องการถ่ายภาพพยายามให้วัตถุที่ต้องการถ่าย
ภาพอยู่ในตำแหน่งของจุดโฟกัสภาพ การแพนกล้องตามวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพ
กดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งค้างไว้
เพื่อกระตุ้นให้ระบบออโต้โฟกัสทำงานโฟกัสภาพวัตถุอย่างต่อเนื่อง
และกดถ่ายภาพทันทีเมื่อต้องการเก็บความเร้าใจในจังหวะนั้นๆ แน่นอนครับว่า
การถ่ายภาพอย่างต่อเนื่อง
ทำให้คุณมีโอกาสที่จะได้ภาพที่มีความเร้าใจที่ดีที่สุดให้เลือกใช้
ความไวชัตเตอร์ที่สูงพอ
จะจับจังหวะของการเคลื่อนที่ให้หยุดนิ่งในตำแหน่งที่คุณต้องการได้
การทำงานของจุดโฟกัสภาพอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้คุณมีโอกาสได้ภาพที่โฟกัสชัด
เก็บภาพอารมณ์ และสีหน้า และท่าทางได้อย่างแม่นยำดีขึ้น
ภาพสุดยอดกีฬานั้น เขาได้มาด้วยวิธีเหล่านี้ทั้งสิ้นครับ
กล้องและอุปกรณ์เป็นเสมือนช่วยให้ เสือติดปีก
แต่จะเป็นเสือที่เขี้ยวแหลมคมก็ต้องเป็นตัวเสือเอง การถ่ายภาพ
เป็นสิ่งที่ต้องทดสอบ ทดลอง ฝึกฝน แล้วคุณจะพบว่า
คุณก็สามารถถ่ายภาพกีฬาได้อย่างมืออาชีพเหมือนกัน
ขึ้นกับว่าโอกาสมีมาให้หรือเปล่าเท่านั้นเองครับ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น